“แรมโบ้"ซัดเพื่อไทยศึกษาน้ำมันแพงให้ถ่องแท้อย่าบิดเบือนใส่ความรัฐบาล

15 ก.พ. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 14:08 น.

“แรมโบ้"ซัด"เพื่อไทย"ช่วยศึกษาข้อมูลเรื่องน้ำมันแพงให้ถ่องแท้ อย่าบิดเบือนใส่ความนายกฯ และรัฐบาล สอนมวยกลับช่วยตรวจสอบย้อนหลังรัฐบาลน้องสาวโทนี่ แตะ 50 บาทต่อลิตร ทำไมไม่ออกมาโวยวายบ้าง

วันนี้(15 ก.พ.65) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อมูลถึง "ราคาน้ำมันแพง" ซึ่งขอเปิดเผยข้อมูลที่หลายคนพูดไม่ค่อยครบ ทุกมุมมอง ทุกมิติ โดยเฉพาะคนที่ตั้งหลักจะตีรวน ย่อมหยิบเพียงบางประเด็นมาโจมตี เพื่อสนองตัณหาส่วนตัว และดิสเครดิตรัฐบาล โดยใช้ข้อมูลที่ไม่ได้ศึกษาอย่างครบถ้วนมาโจมตีให้เกิดความเข้าผิดต่อประชาชน 


นายเสกสกล กล่าวว่า ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโดยตรง ก็คือ ปัญหาความตึงเครียดระหว่างประเทศรัสเซียกับสหรัฐฯ และพันธมิตร "นาโต้" เกี่ยวกับยูเครน ซึ่งหากว่าใครติดตามข่าวสารก็จะเข้าใจ สิ่งสำคัญคือ...มันมีผลทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ สหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก  และมีน้ำมันสำรองระดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่กลับได้รับประโยชน์ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น 

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง คือสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ถือเป็น "มหาวิกฤติ" ครั้งใหญ่ที่สุด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2563 ลดลงร้อยละ 3.2 และร้อยละ 9.6 ตามลำดับ ซึ่งรุนแรงยิ่งกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ปี 2540 และ "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ปี 2549 เพราะส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เหมือน "วิกฤตมหาอุทกภัย" ปี 2554 ที่เป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ น้องสาวโทนี่ ที่รอคนนอกประเทศกดปุ่ม มันก็ไม่ทันต่อสถานการณ์แน่นอน 


นายเสกสกล กล่าวต่อว่า หากจะกล่าวหาลอยๆ ว่าไทยน้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้านอาเซียน ตนก็อยากเอามาแบให้เห็น ให้ชัดกันไปเลยว่า "ราคาดีเซล" เฉลี่ยทั้งประเทศ เรียงจากแพงไปหาถูก คือ สิงคโปร์ (56.7 บาท/ลิตร) ลาว (34.7 บาท/ลิตร) ฟิลิปปินส์ (32.0 บาท/ลิตร) เมียนมา (31.7 บาท/ลิตร) กัมพูชา (30.8 บาท/ลิตร) อินโดนีเซีย (30.5 บาท/ลิตร) ไทย (29.9 บาท/ลิตร) เวียดนาม (27.5 บาท/ลิตร) มาเลเซีย (17.0 บาท/ลิตร) และบรูไน (7.62 บาท/ลิตร) 

สำหรับ "ราคาเบนซิน" เฉลี่ยทั้งประเทศ เรียงจากแพงไปหาถูก คือ สิงคโปร์ (66.8 บาท/ลิตร) ลาว (44.6 บาท/ลิตร) ฟิลิปปินส์ (38.9 บาท/ลิตร) กัมพูชา (38.1 บาท/ลิตร) ไทย (34.5 บาท/ลิตร) เวียดนาม (34.5 บาท/ลิตร) เมียนมา (32.5 บาท/ลิตร) อินโดนีเซีย (28.9 บาท/ลิตร) มาเลเซีย (16.2 บาท/ลิตร) และบรูไน (13.0 บาท/ลิตร) (ข้อมูล ณ 7 ก.พ.65) 

 

ดังนั้น มันชัดเจนแล้วว่า ราคาน้ำมันไทย ทั้งดีเซลและเบนซิน "ไม่ได้แพง" อย่างที่บางคนกล่าวหา โดยเฉพาะกลุ่มพรรคพวกสมุนนายโทนี่ น่าจะตักน้ำใส่กระโหลก ย้อนมองไปดูราคาน้ำมันในอดีตปี 2557 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ลักหลับ เบนซินสูงสุด ตั้งแต่ตนเกิดมาสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 50 บาท/ลิตร จะจอดรถทิ้งที่บ้านก็หารถไฟฟ้าไม่มี จะเดินไปทำงานก็คงไม่ไหว ยังจำได้หรือไม่ หรือคนในพรรคเพื่อไทยแกล้งลืม
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ให้ได้มากที่สุด เช่น 

 

1. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดย ลดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7, ลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซล, ลดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้มีสัดส่วนผสมเดียว 

 

2.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้น มี.ค.65 

 

นอกจากนี้ ยังมีความพยายามลดค่าครองชีพด้านอื่นๆ อีก เช่น 

 

1. ขยายส่วนลด LPG จำนวน 100 บาท/คน/เดือน ถึงสิ้น ม.ค.65 

 

2.ตรึงราคา LPG อยู่ที่ 318 บาท สำหรับถัง 15 กิโลกรัมถึงสิ้น มี.ค.65 

 

3.ตรึงราคา NGV อยู่ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม ถึง 15 มี.ค.65 

 

4.ลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 14 ล้านคน  ช่วง ต.ค.64-ก.ย.65 รวมทั้งออกโครงการต่างๆ เช่น "คนละครึ่ง" เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานรากด้วย
สำหรับประเด็นโครงสร้างน้ำมัน ซึ่งใช้มานานหลายรัฐบาล ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังสงสัย หรือโยนความผิดมาที่รัฐบาลนี้ ที่ไม่ใช่เป็นคนคิด แต่จะเป็นคนเริ่มต้นแก้ไขให้มันถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ ตามที่นายกรัฐมนตรีก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาอยู่ 

 

แต่เบื้องต้นตนก็อยากจะอธิบายก่อนว่า "โครงสร้างน้ำมัน" ของแต่ละประเทศมีรายละเอียดแตกต่างกัน เช่น "ราคาหน้าโรงกลั่น" ของไทยเฉลี่ยสูงกว่ามาเลเซียและเวียดนาม ก็เพราะไทยต้องการได้น้ำมันที่บริสุทธิ์กว่า ตามมาตรฐานยูโร 4-5 ซึ่งปล่อยมลพิษน้อยกว่า ในขณะที่มาเลเซียและเวียดนามกลั่นตามมาตรฐานยูโร 2 เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่า 

 

สำหรับในส่วนที่เป็น "ภาษีสรรพสามิต-เทศบาล-มูลค่าเพิ่ม" ก็จะเป็นรายได้แผ่นดินและนำไปพัฒนาประเทศ หรือช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในด้านอื่นๆ หรือในส่วนที่เป็น "กองทุนน้ำมันฯ" ก็ใช้พยุงราคาไม่ให้ผันผวนจนประชาชน-ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน และ "กองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน" ก็เพื่อรณรงค์ให้ประหยัดและแสวงหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่สะอาดกว่า และยั่งยืนกว่า เป็นต้น

 

นายเสกสกล กล่าวปิดท้ายว่า จำเป็นต้องหาข้อมูลมานำเสนอให้ครบถ้วน รอบด้าน ก็เพราะต้องการให้ทุกคนได้เปิดใจและตัดสินใจอย่างเป็นกลาง อยากให้เป็น "น้ำดี" ที่จะไปลบล้าง "น้ำเสีย" ที่คนใจคดพ่นน้ำลายพูดพล่ามรายวันใส่ความนายกฯและรัฐบาล แต่นายกฯไม่เคยย่อท้อต่อการทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง 
“ผมเชื่อมั่นว่านายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาให้คนไทยทั้งประเทศ ทั้งที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างหนัก หัวใจก็ไม่เคยหวั่นไหว ตั้งใจทำเพื่อส่วนร่วม เพื่อประเทศชาติและประชาชน และผมเชื่อมั่นว่า "ธรรมะย่อมชนะอธรรมอย่างแน่นอน” นายเสกสกล กล่าว