เคาะเวลาถกกม.ลูก2ฉบับลงตัว ส.ว.จัดติวเข้ม 10 ร่าง พรป.ใช้เลือกตั้ง

20 ก.พ. 2565 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2565 | 16:33 น.

วิป 3 ฝ่ายเคาะเวลาพิจารณากม.ลูก2ฉบับลงตัว นัดประชุมร่วม 24-25 ก.พ.ก่อนปิดสมัยประชุม ด้าน ส.ว.จัดติวเข้ม 23 ก.พ. 10 ร่างมีวาระซ่อนเร้น เอื้อพรรคการเมืองมากกว่าประชาชนหรือไม่


วันที่ 20 ก.พ.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งมีส.ส.เข้าชื่อเสนอรวม 10 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... จำนวน 4 ฉบับ แบ่งเป็นของคณะรัฐมนตรี เสนอ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ, นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะเสนอ

 

และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... จำนวน 6 ฉบับ แบ่งเป็น เสนอโดย ครม., นพ.ชลน่าน, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล, นายพิธา และนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ และคณะ เป็นผู้เสนอโดยพิจารณา ในวันที่ 24 - 25 ก.พ.โดยจะเริ่มเวลา 09.00 - 21.00 น.ของทั้ง 2 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย คือ วิปวุฒิ วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน เพื่อจัดสรรเวลาในการประชุม และมีข้อสรุปคือ ผู้เสนอร่างพ.ร.ป. จำนวน 5 ชั่วโมง, ส.ว. 6 ชั่วโมง, พรรคร่วมรัฐบาล 6 ชั่วโมง, พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง และ ประธานในที่ประชุม 1 ชั่วโมง รวมเวลา 24 ชั่วโมง และมีแนวทางการพิจารณา คือ รับหลักการ และตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน จำนวน 49 คน แบ่งเป็นครม. 8 คน,ส.ว. 14 คน และ ส.ส. 27 คน.

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ ในส่วนของส.ว. นั้น มีประเด็นที่ต้องหารือถึงเนื้อหาและสาระที่ส.ส.เสนอโดย นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. เปิดเผยว่า  23 กุมภาพันธ์ จะจัดสัมมนาเพื่อดูรายละเอียด  โดยมีวิทยากร ได้แก่ ตน,นายสมชาย แสวงการ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นายวันชัย สอนศิริ และ นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว.  โดยแนวทางที่จะพิจารณา คือรายละเอียดประเด็นที่เสนอ ว่ามีประเด็นใดที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ส่วนการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับนั้น เป็นเอกสิทธิของส.ว.  ส่วนเวทีที่จัดเพื่อให้ความเห็นของข้อสังเกต

“การเสนอร่างกฎหมายยลูกนั้น จะพิจารณารายละเอียดว่ามีบางอย่างซุกซ่อนไว้ เป็นประโยชน์ประชาชนหรือไม่ หรือเพื่อเป็นประโยชน์กับพรรคหนึ่งพรรคใด หรือช่วยเหลือดูแลหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ทำลายหลักการ หรือไม่ใช่เรื่องเพื่อส่วนรวมหรือไม่ โดยก่อนการสัมมนานั้นวิทยากรจะนัดหารือกัน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ด้วย  นายจเด็จ กล่าว 


  ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการตัดสินใจของส.ว. ต่อทิศทางการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการร่างพ.ร.ป.ฉบับใดนั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงบ่าย วันที่ 23 กุมภาพันธ์.