ดันเซ็นสัญญาเอกชนรายใหม่เช่าท่อส่งน้ำภาคตะวันออกเสี่ยงเกิดค่าโง่

01 มี.ค. 2565 | 06:31 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 13:38 น.

ดันเซ็นสัญญาเอกชนรายใหม่เช่าท่อส่งน้ำภาคตะวันออก หลังมีข่าวคณะกรรมการที่ราชพัสดุบางรายอยากเปลี่ยนใจจะกลายเป็น "ค่าโง่" ให้รัฐต้องจ่ายอีกหรือไม่ 

จากประเด็นข้อพิพาทเรื่องการประมูลท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ระหว่าง กรมธนารักษ์ และ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์  ด้วยเหตุที่กรมธนารักษ์ ภายใต้การกำกับของ อธิบดีที่ชื่อ ยุทธนา หยิมการุณ  ได้ดำเนินการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ทั้งที่ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ชนะการประมูลไปแล้ว 

 

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะเดินหน้าสู่การเซ็นสัญญาเช่าท่อดังกล่าว กับเอกชนรายใหม่  โดย นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เปิดเผยว่า ได้มีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 ก.พ.65 โดยคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานฯ 

แต่มติคณะกรรมการฯ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่ชนะการประมูลในครั้งที่ 2 หลังจากที่ มีการยกเลิก การประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ชนะ จนนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ 6 เสียง เห็นว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน 

 

นายประภาศ เปิดเผยว่า ต้องรอว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จะเรียกประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ อีกครั้งเมื่อไหร่

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มอบให้ฝ่ายเลขาฯ ไปรวบรวมผลดี ผลเสีย ของการประมูลในครั้งนี้ จุดไหนคือความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ฝ่ายเลขาฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี อีสท์วอเตอร์ ฟ้องศาลปกครอง จะมีผลต่อการประมูลโครงการนี้หรือไม่ นายประภาศ กล่าวว่า ถ้าศาลปกครอง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเรื่องทุกอย่างต้องหยุดหมด แต่ศาลระบุว่า “ในกรณีที่เกิดค่าเสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายได้ “ ดังนั้น จึงเป็นสิทธิโดยชอบของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ บางท่านก็ห่วงว่าไม่รู้ว่าศาลปกครองจะตัดสินอย่างไร

 

ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่าโดยส่วนตัวอธิบดีกรมธนารักษ์ในฐานะฝ่ายเลขาฯ มีความเห็นอย่างไร นายประภาศ เผยว่า หากคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ของรัฐตามที่เอกชนรายใหม่เสนอค่าตอบแทน หากการเซ็นสัญญาล่าช้า ส่วนตัวมองว่าเป็นความเสียหาย

 

ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงประเด็นอันเป็นสาระสำคัญ ที่ต้องติดตาม และตั้งคำถาม กับการให้ข้อมูลของ นายประภาศ ว่า “ศาลระบุว่าในกรณีที่เกิดค่าเสียหายสามารถเรียกค่าเสียหายได้” นั้น แสดงให้เห็นว่า หากมีใคร ที่ได้รับความเสียหาย จากการดำเนินการ อย่างหนึ่งอย่างใด ก็ สามารถที่จะเรียกร้องค่าเสียหายกับ กรมธนารักษ์ได้ ซึ่งอาจทำให้หน่วยงานรัฐต้องเสียเงินค่าโง่ โดยที่ไม่จำเป็น ก็อาจเกิดขึ้นได้ 

 

ล่าสุดมีการเปิดเผยเอกสาร มติ ครม. ปี 2535  เรื่องการตั้ง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ให้เป็นผู้บริหารระบบน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ตลอดจนการโอนสิทธิในการบริหาร ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเช่นท่อน้ำจาก กระทรวงการคลัง และ อื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหาร จัดการอย่างเต็มระบบ 

 

เมื่อปรากฏชัดเจน ตาม มติครม. ในปี 2535 แล้ว และเรื่องการประมูลที่เกิดขึ้น ก็สร้างข้อกังขาจนนำไปสู่การฟ้องร้องคดีกัน สุดท้ายก็ต้องติดตามดูว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ท่านใด จะยอมเสี่ยง ซึ่งอาจทำให้ หน่วยงานรัฐ ต้องเสียงค่าโง่โดยไม่จำเป็นอีกหรือไม่

 

ทีมข่าว : สืบสวนสอบสวน สำนักข่าวเนชั่น