4 มีนา ชี้ชะตา “คดีโฮปเวลล์” ศาลฯนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

02 มี.ค. 2565 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 15:54 น.

ใกล้จบแล้ว “คดีโฮปเวลล์” ศาลปกครองกลาง เผยแพร่กำหนดนัดพิจารณาคดีวันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ระหว่าง กระทรวงคมนาคม กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 

วันที่ 2 มี.ค.2565  ศาลปกครองเผยแพร่ กำหนดนัดพิจารณาคดี “คดีโฮปเวลล์” ว่า วันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 107/2552 คดีหมายเลขแดงที่ 366/2557 ระหว่างกระทรวงคมนาคม ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้อง) กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้คัดค้าน) (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา) ณ ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

 

กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ร้อง) ฟ้องว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ได้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง โดยอ้างว่า ผู้ร้องบอกเลิกสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบ

 

ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไปโดยไม่มีอำนาจ และคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการฯ ซึ่งสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้ร้องทราบตามหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว)

 

คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ผู้ร้องทั้งสองจึงมีหนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2562 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น


ต่อมา ผู้ร้องทั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และลงวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และของดการบังคับคดี ศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2564 กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545

 

ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า เป็นการออกระเบียบโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขั้นตอนการออกระเบียบของศาลปกครองดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น

 

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอีกว่า ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดในคราวประชุมดังกล่าว มีมติในประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยตรงในคดี อันเป็นเงื่อนไขในการฟ้องคดี การวินิจฉัยว่าคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้น ขัดต่อ บทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยในส่วนของเนื้อหาคดี

 

ดังนั้น วัตถุแห่งคดีและข้อกฎหมายอันเป็นการก่อตั้งข้อพิพาทแห่งคดีนี้ จึงแตกต่างไปจากคดีตามมติที่ประชุมใหญ่พิพาท อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การพิจารณาพิพากษาของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวอ้างในคดีระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับบริษัท โฮปเวลล์ฯ เป็นการกระทำทางตุลาการ

อันแสดงให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่มีผลผูกพันศาลในคดีนี้ อีกทั้งถือได้ว่าคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ดังนั้น จึงไม่กระทบต่อคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 212 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการชี้ขาดสถานะทางกฎหมายของมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เท่านั้น จึงไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดใช้ในการวินิจฉัยตีความในคดีดังกล่าว จึงไม่มีผลผูกพันคดีที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่คดีนี้

 

สำหรับประเด็นที่ผู้ร้องทั้งสองมีคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2564 เป็นพยานหลักฐานใหม่ อันมีผลทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และยังเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้เห็นว่าศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด อันเป็นเหตุที่ศาลปกครองต้องพิจารณาคดีนี้ใหม่นั้น

 

ศาลฯ เห็นว่า เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานใหม่แต่อย่างใด การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเป็นการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาล และเป็นการตีความกฎหมายของศาล มิใช่เป็นการนำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมาปรับกับข้อกฎหมายแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริง ที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

 

ส่วนกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดหยิบยกเอามติที่ประชุมใหญ่ซึ่งไม่มีสถานะเป็นกฎหมายมาวินิจฉัยอ้างอิงพิจารณาทำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า มิได้มีข้อบกพร่องในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ข้ออ้างของผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดีของศาล และการตีความกฎหมายของศาล ไม่ถือเป็นข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดี ไม่มีความยุติธรรมแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังปรากฏอีกว่า ทั้งคณะอนุญาโตตุลาการและ ศาลปกครองชั้นต้นต่างก็มิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องวันรู้เหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยนำแนวทางตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ที่พิพาทมาใช้จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งอีกประการหนึ่งว่า คณะอนุญาโตตุลาการและศาลไม่ผูกพันและไม่จำต้องนำมติที่ประชุมใหญ่ที่พิพาทดังกล่าวมาใช้โดยเคร่งครัดในฐานะระเบียบหรือข้อกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

แต่เป็นเพียงการใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น คำขอพิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้องทั้งสองจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา ๗๕ วรรคหนึ่ง (1) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา

 

ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปความได้ว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องสำหรับการนับระยะเวลาหรืออายุความการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสำหรับประเด็นการยื่นข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

คือ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องทั้งสองไปถึงผู้คัดค้าน มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ซึ่งผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวอ้างเข้าหลักเกณฑ์และองค์ประกอบการพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

 

ที่มา : ศาลปกครอง