วันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่โรงแรม บุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีเปิดและมอบนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีทุกกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการในสังกัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชนในพื้นที่ ฯลฯ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำฐานข้อมูล การบันทึกข้อมูล และการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศในทุกมิติได้อย่างแท้จริง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า กับดักความยากจนคือกลไกซ้ำเติมที่ทำให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ยาก ภารกิจนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้ายทายความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ ทั้งยังต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับเงื่อนเวลา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว รัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ซึ่งได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ก็มีการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนลงไปสู่ท้องที่ท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน
นายนิพนธ์ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาขจัดความยากจน ลดความความเหลื่อมล้ำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้น ท้องถิ่นท้องที่เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ต้อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน หากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ โดยนายอำเภอ สามารถประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในพื้นที่ได้
อาจจะใช้โอกาสการประชุมประจำเดือน หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระพิเศษ ในการพูดคุย ปรับแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยใช้สัดส่วนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งสัดส่วนโครงสร้างมาดูแลในส่วนนี้ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายการขจัดปัญหาความยากจน ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการแก้ไขกฎหมายหลายๆ ฉบับ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความคล่องตัวในการดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น”
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ตนในฐานะประธานคณะทำงานช่วยอำนวยการพิจารณากลั่นกรองแผนงานโครงการ อ.ก.บ.ภ. ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ทราบดีว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรลงมานั้น ได้รับการจัดสรรลงมาอย่างจำกัด
ทั้งนี้ ในส่วนของงบพื้นที่หรืองบประมาณบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบฟังก์ชั่นของกระทรวงต่างๆ เชื่อว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารได้ แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือ การประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนร่วมกันในการดึงงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกมาใช้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากสามารถนำงบประมาณในส่วนนี้มาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที ก็จะเป็นนิมิตหมายใหม่ในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ควรให้ความสำคัญและเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหา หากแต่ควรเกิดขึ้นในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้แต่อย่างใด และพร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
“การลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้านเรื่องเรื่องสำคัญ เพราะถือเป็นจุดเชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับพี่น้องประชาชน หากสามารถรับสารจากพื้นที่ขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ก็จะเกิดเป็นผลรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยแล้วนั้น ยังเป็นการช่วยสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย”
นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมฝากข้อคิด “ให้เบ็ด ดีกว่าให้ปลา” ถ้าท่านให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน แต่ถ้าสอนเขาจับปลา เขาจะมีกินตลอดชีวิต เน้นแก้ไขปัญหาความยากจนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ประชาชนยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง
ต่อจากนั้น ในช่วงบ่าย ได้ร่วมกับคณะเดินทางไปยังวัดคลองแห ร่วมกิจกรรม “คืนคลองสวย น้ำใส ให้คลองแห” ชมนิทรรศการการแก้ไขและพัฒนาคลองแห ซึ่งคลองแห่งนี้ปัจจุบันเป็นตลาดการท่องเที่ยว ตนในฐานะกำกับดูแลองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) จึงได้ถือโอกาสนี้เดินสำรวจสภาพน้ำในปัจจุบัน พร้อมได้ร่วมกิจกรรมโยน EM Ball หรือ ตัวการทำน้ำเน่า เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ รักษาสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ พร้อมกันนี้ ได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมฝั่งคลอง ร่วมแรงร่วมใจกันดูแลรักษาคุณภาพของน้ำก่อนที่จะปล่อยลงมายังคลองแห เข้าสู่กระบวนการบำบัด และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ
หลังจากนั้น ได้เดินทางต่อไปยังบ้านของนางจาง ทองเด็จ ในพื้นที่ อ.รัตภูมิ เพื่อตรวจเยี่ยมครัวเรือนตกเกณฑ์ตามโครงการฯ โดยได้ร่วมมอบบัตรประชาชนให้แก่นายทวี ไชยช่วย สามีของนางจาง ทองเด็จ และมอบถุงยังชีพให้แก่ครอบครัวของนางจาง ทองเด็จ พร้อมพบปะผู้นำชุมชน ส่วนราชการในพื้นที่ ในลำดับถัดไป