นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีมีข้อมูลว่ามีความพยายามที่จะผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการฯ วันที่ 11 ก.พ.2565 ที่ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ออกไปก่อน โดยให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน ส่วนการนัดหมายเพื่อประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มติของที่ประชุมเดิม โดยให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด สามารถเดินหน้าเซ็นสัญญา ไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครอง ว่า
“ยังไม่ทราบว่าฝ่ายเลขาคณะกรรมการฯ จะเสนอวันเพื่อขอนัดประชุมวันไหน แต่คาดว่าจะเสนอมาภายในวันหรือสองวันนี้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดมีการเปิดเผยข้อมูล เรื่องมติคณะรัฐมนตรี ปี 2535 ที่อนุมัติให้ตั้งบริษัท อีสท์ วอเตอร์ ขึ้นมาโดยให้การประปาส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และให้โอนสิทธิหรือเช่าบริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ มาให้บริษัท ดังกล่าวดูแล ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาในคณะกรรมการฯ และจะมีผลต่อการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ หรือไม่ นายสันติ ตอบว่า เป็นรายละเอียดเกินไปต้องถามฝ่ายเลขาฯ
ด้านนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุกการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ แจ้งว่า ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะมีการเรียกประชุมวันไหน เพียงแค่ประสานกันว่า หากประธานฯ จะให้มีการนัดประชุมวันไหน เดี๋ยวท่านฯ ก็จะแจ้งมา ไม่ได้มีการนำเสนอบันทึกไป
“โดยท่านประธานฯ ถามว่าทางเราได้เตรียมข้อมูลไปถึงไหน เราบอกเราเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ส่วนท่านประธานฯ จะพร้อมวันไหน หรือให้นัดกรรมการวันไหน เดี๋ยวท่านประธานฯ ก็เคาะลงมา เราก็ดำเนินการตามนั้น”
ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่ได้มีมติ 6 ต่อ 4 เสียงส่วนใหญ่ ให้รอคำพิพากษาศาลปกครองก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดกับเอกชนที่จะเป็นคู่สัญญา จากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่?
เพราะโครงการนี้ที่ผ่านมาก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขนาดเปิดประมูลขายซอง และเปิดซองจะได้ผู้ชนะแล้ว อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ยังยกเลิกการประมูลได้ และสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ ใครคือโม่ง ตัวจริงสำหรับโครงการนี้
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ตรวจสอบมติครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 พบว่าครม.อนุมัติให้มีการก่อตั้งบริษัทอีสท์ วอเตอร์ โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และให้โอนสิทธิหรือเช่าบริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ มาให้บริษัทอีสท์ วอเตอร์ ดูแล เช่น ท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ของกรมโยธาธิการฯ ท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ของกรมชลประทาน เป็นต้น
โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1)ปริมาณน้ำดิบที่ต้องจัดสรรนั้น ควรให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอันดับแรก 2) การกำหนดอัตราค่าน้ำ ควรกำหนดในอัตราที่เหมาะสม ไม่ควรมุ่งค้ากำไรเกินควร และ 3)การจัดสรรน้ำควรจ่ายให้แก่อุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตการนิคมฯมากกว่าที่อยู่นอกเขตฯ
ดังนั้น การเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาตั้งแต่ต้น โดยนำมาแสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้เอกชนเข้าประมูล อาจขัดหรือแย้งต่อมติครม.วันที่ 4 ก.พ.2535ได้
อีกทั้งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปแสวงหากำไรและผลประโยชน์โดยมิชอบ อันอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 สมาคมฯจึงจะนำเอกสารข้อมูลหลักฐานดังกล่าวไปยื่นเพิ่มให้ ป.ป.ช.ในการสอบสวนเมื่อวันพฤหัสที่ 3 มี.ค.65 ที่ผ่านมา