วันที่ 8 มี.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำหนดกรอบมาตรการเยียวยาเพื่อรองรับผลกระทบจากความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่อประเทศไทย โดยมุ่งเน้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
1) ดูแลค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพของกลุ่มเปราะบาง 2) เพิ่มอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจลดลง 3) ดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลายเพื่อรองรับความผันผวนในตลาดการเงินโลกและเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยไม่ให้สะดุด
4) ดูแลระบบการชำระเงินและระบบสถาบันการเงิน ให้สามารถทำงานได้ตามปกติและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น 5) มาตรการรองรับด้านตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าตลาดทุนยังทำงานได้เป็นปกติ
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า กรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) ขอให้นายกฯ ไปทบทวนและศึกษา 4 สัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจ นั้น จะเห็นได้ว่า นายกฯได้กำกับติดตามการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในทุกมาตรการอย่างใกล้ชิด
"ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งกระทบทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย คลี่คลาย แนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกก็จะลดลง"
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการดูแลราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมัน รวมทั้งปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร มีผลถึง 20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ นายกฯยังสั่งเตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มอุปสงค์ หรือแรงซื้อภายในประเทศ
นายธนกรกล่าวอีกว่า ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสภาวะ วิกฤตยูเครน เป็นสำคัญ โดยรัฐบาลทราบปัญหาดังกล่าวดีและได้มีมาตรการที่จะช่วยลดต้นทุนตั้งแต่ต้นทางรวมทั้งกำกับดูแลกลไก เพื่อให้ปรับเพิ่มราคาสินค้าต่างๆ มีความเหมาะสม
เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ก็มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลได้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล คาดว่าจะช่วยบรรเทาสถานการณ์เงินเฟ้อต่อจากนี้
“ข้อห่วงใยที่ว่า สหรัฐประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและกลัวไทยอาจต้องถูกบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ยตาม มิฉะนั้น เงินทุนต่างประเทศอาจจะไหลออกได้ว่า บริบทเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากสหรัฐ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแล้ว ทำให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว จึงไม่มีแรงกดดันเหมือนหลายประเทศ ซึ่งไทยจะใช้นโยบายการเงิน-การคลังที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป
ส่วนกรณีการขาดดุลการค้าของไทยมาจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การนำเข้าพลังงานในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า แนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้มีแนวโน้มการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูปและสินค้าทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ตามการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้นได้
“ภาวะเศรษฐกิจปี 2565 ยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหารัสเซีย-ยูเครน ผสมผสานกับปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีมาแต่เดิมจากปี 2564 คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้น
นายกฯติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ติดตามทุกปัจจัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เตรียมแผน/มาตรการรองรับผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในการดูแลประชาชนคนไทยอย่างเต็มที่
พร้อมย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อเดินหน้าประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปให้ได้” นายธนกรกล่าว