ปัจจุบันมีคดีของ “นักการเมือง” อย่างน้อย 9 คน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของทั้ง ศาลฎีกา และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปอัพเดทว่า 9 นักการเมืองดังกล่าว มีใครบ้างที่ติดบ่วง และเจอกับคดีอะไร โดย 9 นักการเมืองที่มีคดีติดตัวอยู่ขณะนี้ ประกอบไปด้วย
3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คือ 1.นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 2.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 3.นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ
5 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) 4.นางสาวธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.(หยุดปฏิบัติหน้าที่) 5.นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 6.นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ(หยุดปฏิบัติหน้าที่) 7. นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 7(หยุดปฏิบัติหน้าที่) 8.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา เขต 5 (หยุดปฏิบัติหน้าที่)
และ 9.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐนตรี
คดี 3 ส.ส.ภูมิใจไทย
ไปดูคดีของ 3 ส.ส.ภูมิใจไทย กันก่อน ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา “ศาลฎีกา” นัดตรวจหลักฐานในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้อง 3 ส.ส.ภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ นายภูมิศิษฏ์ คงมี และ นางนาที รัชกิจ ผู้คัดค้านที่ 1-3 ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกันในการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563
หลังศาลให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีพยาน ไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมทั้งยื่นคำแถลงแนวทางการไต่สวนและคำโต้แย้งไม่น้อย 7 วัน จากการพิจารณานัดที่แล้ว 12 พ.ย. 2564
การตรวจหลักฐานมอบให้เลขานุการองค์คณะและเลขาธิการศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง ดำเนินการแทนร่วมกับคู่ความ และรายงานให้องค์คณะทราบ
แต่คดีนี้ ทนายของทั้ง 3 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้งดการพิจารณาคดีนี้ไปก่อน เพื่อรอฟังผลคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง)
คดีนี้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องทั้ง 3 คน ในความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ มาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.
ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ และคดีอาญาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน และพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งอาจนำสืบถึงข้อเท็จจริงเดียวกัน เพื่อให้ความยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดี จึงเห็นสมควรให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไป จนกว่าจะพิพากษาหรือชี้ขาดข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าว ในชั้นนี้ยังไม่สมควรให้จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยให้เลื่อนไปนัดพร้อม เพื่อฟังผลความคืบหน้าในคดีอาญา ในวันที่ 21 ธ.ค.2565 เวลา 14.00 น.
สำหรับคดีใน “ศาลฎีกานักการเมือง” ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง 3 ส.ส.นี้ ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การวันที่ 19 พ.ค.2565 นี้ เวลา 09.30 น.
คดีส.ส.ธณิกานต์
ถัดไปเป็นคดีของ นางสาวธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พปชร. ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลกรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10
โดยป.ป.ช.ชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และส่งให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลฎีกานักการเมือง และยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย ซึ่งจะส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 ศาลฎีกานัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ป.ป.ช. ยื่นฟ้องกรณีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง
คดี “ปารีณา” รุกป่า
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พปชร. ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงป.ป.ช.จึงร้องคดีไปที่ศาลฎีกา กรณีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ในจ.ราชบุรี
25 มี.ค.2564 ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ นางสาวปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.
9 พ.ย. 2564 ศาลฎีกา นัดพิจารณาครั้งแรก ในคดี นางสาวปารีณา ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นการตรวจพยานหลักฐาน และศาลกำหนดการไต่สวนพยานหลักฐาน ของฝั่ง ป.ป.ช.ทั้งสิ้น 12 ปาก ในวันที่ 8 ,22 ,28 ก.พ. 2565
ขณะที่พยานของ นางสาวปารีณา นัดสอบทั้งสิ้น 10 ปาก วันที่ 1-3 มี.ค. 2565 และ 8-10 มี.ค. 2565 พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย. 2565 เวลา 10.30 น.
นางปารีณา ยังมีคดีอาญา อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกด้วย
3 พปชร.ติดคดีฟุตซอล
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ศาลฎีกานักการเมือง โดยองค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งบังลังก์นัดฟังคำสั่งขอให้ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในคดีอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. กับพวก รวม 87 คน มี 2 ส.ส.นครราชสีมา รวมอยู่ด้วยคือ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ และ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ
เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ, พ.ร.บ.ป.ปช. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 162, 264, 265, 268, 83, 86, 91 กรณีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา โดยศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564
ทั้งนี้ นายวิรัช ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยไม่ต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ศาลเห็นว่าเหตุผลตามคำร้องของจำเลย ศาลได้มีคำสั่งไว้แล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกานักการเมือง ได้นัดตรวจหลักฐาน นายวิรัช จำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นๆ ในวันที่ 17 พ.ค.2565 เวลา 9.30 น.
“สุเทพ”ติดบ่วงคดีโรงพัก
เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา “ศาลฎีกานักการเมือง” นัดพิจารณาครั้งแรก เป็นการสอบคำให้การจำเลย ในคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และพวกรวม 6 คน กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) จำนวน 396 หลัง เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยคดีนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 และในวันนั้น ศาลได้ให้ประกันตัว กำหนดวงเงินประกัน 1 ล้านบาท ซึ่ง นายสุเทพ ได้นำโฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว และศาลฯ ยังกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
ทั้งหมดคือความคืบหน้าคดีของนักการเมืองทั้ง 9 ราย มีทั้งคดีที่ศาลนัดวันพิพากษาแล้ว และที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่ได้กำหนดนัดพิพากษา
ส่วนใครจะ “รอด” จะ “ร่วง” บ้าง ต้องคอยติดตามกันต่อไป