ที่ศาลฎีกา วันนี้ (3 ก.พ.65) อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และ นางนาที รัชกิจประการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย จำเลยที่ 1-3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในข้อหาเสียบบัตรแทนกัน
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ถึง 11 มกราคม 2563 อันเป็นการปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการและประชาชน หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับรามการทุจริต 2561 มาตรา 4 และ 172
โดยจำเลยทั้ง 3 มาศาล และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ และนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.30 น.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ศาลฎีกา ได้มีคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ คมจ. 3/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นร้อง นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ และ นายภูมิศิษฎ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย เรื่องการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง (ชั้นรับคำร้อง) ในคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรง จากการเสียบบัตรแทนกัน
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับ แต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับ แต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ตามรธน. 2560 มาตรา 235 พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 6-8,11,17 และ 27
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจน เพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ และผู้ร้องดำเนินการตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ครบถ้วนแล้ว
ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้รับคำร้องของผู้ร้องเเละสั่งผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษาตาม รธน.60 มาตรา 235 วรรคสาม
ส่งผลให้ทั้ง 2 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. มีผลตั้งแต่วันที่รับคำร้องคือ 3 ก.ย. 64