วันนี้(14 มี.ค.65) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบและเสนอศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) สั่งยุบพรรคเพื่อไทย(พท.) กรณีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ภาคอีสาน นายชูวิทย์ กุ่ย พิทักษ์พรพลลภ ส.ส.อุบลราชธานี เดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเข้าข่ายขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่ห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดที่เป็นการควบคุม ชี้นำ ครอบงำ การดำเนินกิจกรรมของพรรคไม่ว่าทางตรง ทางอ้อม ที่อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 92 (3) มีโทษถึงขั้นยุบพรรค
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นอกจากนายเกรียง และนายชูวิทย์ ที่เดินทางไปพบนาทักษิณ แล้ว ยังมีส.ส.พรรคเพื่อไทยคนอื่นไปร่วมด้วย รวมถึงนักธุรกิจโรงสีใหญ่ใน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นพี่ชายส.ส.เพื่อไทย จ.ยโสธร และเป็นเพื่อนของอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้าไปคุกเข่า พนมมือ ยกมือไหว้ นายทักษิณ ซึ่งนักธุรกิจคนดังกล่าวมีกระแสข่าวว่า ต้องการที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
อย่างไรก็ตาม การที่นักธุรกิจคนดังกล่าวอ้างว่าเดินทางไปพบปะพูดคุย ธรรมดา สังคมไม่เชื่อ รวมถึงที่อ้างว่าจองตั๋งล่วงหน้าไปเป็นปี ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญคือ มีการนัดแนะพบปะกันล่วงหน้า
ประกอบกับก่อนหน้านี้มีการวีดีโอคอลกับนายเกรียง ในงานเลี้ยงวันเกิดเมื่อหลายเดือนก่อน จึงถือว่าเป็นกรณีที่เชื่อมโยงกับกรณีที่ก่อนหน้านี้ ตนได้ยื่นร้องให้ตรวจสอบคลิป การวีดีโอคอลในงานเลี้ยงวันเกิดของนายเกรียง และกกต.ได้ให้ตนมาให้ข้อมูลแล้ว
แม้ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ แต่พฤติการณ์และการกระทำของพรรคเพื่อไทยยังเป็นเช่นเดิม คือ ให้นายทักษิณ ซึ่งไม่ใช่บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคเข้าชี้นำ ครอบงำ ซึ่งถ้าหากกกต.รับเรื่องไป และวินิจฉัยว่ามีความผิด ก็จะมีโทษถึงขั้นยุบพรรค
“ไม่ใช่เฉพาะผมไม่เชื่อว่าเป็นการพบปะกันโดยบังเอิญ แต่คนไทยทั้งประเทศซึ่งไม่ได้กินแกลบ กินหญ้า คงไม่เชื่อว่าเป็นการพบกันโดยบังเอิญ เพราะเรื่องเหล่านี้สามารถนัดหมายกันได้อยู่แล้ว แน่จริงให้เอาเบอร์โทรศัพท์มาโชว์ว่าเมื่อ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ คุณได้คุยโทรศัพท์ไปต่างประเทศ ไปดูไบหรือไม่”นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า คงจะไม่นำเรื่องนี้ไปร้องต่อกรรมาธิการจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร เพราะเคยร้องกรรมาธิการจริยธรรม กับส.ส.หลายคน แต่ก็ไม่ได้ปรากฏผลเป็นรูปธรรม เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะส.ส.ด้วยกัน การทำงานก็อาจจะลูบหน้า ปะจมูก ไม่กล้าที่จะลงโทษใดๆ ทั้งที่ความผิดของส.ส.ที่ตนร้องไป เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน
ขณะเดียวกันป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เอาผิดเรื่องจริยธรรมโดยตรง กลับมีการเอาผิด และเสนอลงโทษส.ส.ไปหลายคนแล้ว ผิดกับคณะกรรมาธิการจริยธรรมของสภาฯ ที่ไม่มีผลงานอะไรเลย ตนจึงไม่ให้ความสนใจกับคณะกรรมาธิการจริยธรรมของสภาฯ ชุดนี้อีกต่อไป