วันนี้(16 มี.ค.65) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สําคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้
ก่อนเข้าประชุมพิจารณาตามวาระปกติ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขอหารือเรื่องเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ของ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ว่า เมื่อมีอายุครบ 70 ปีตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว จะเป็นผู้มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 208 วรรคสี่ บัญญัติว่าในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม(1) หรือ(3) หรือไม่ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 เป็นผู้วินิจฉัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่า ตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 (1) หรือ (3) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหา ภายใน 15 วัน นับแต่วัน ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นสมควรให้ตุลาการผู้ที่เห็นว่า มีปัญหาเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญส่งคำร้องของตนไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญส่งคำร้องขอดังกล่าวไปให้เลขาธิการวุฒิสภา เสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ทำหนังสือให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย ส่วนอีก 4 คนเห็นว่า ไม่ต้องส่ง ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่กล้าลงความเห็น แต่ไม่ยอมลุกออกจากที่ประชุม
ขณะที่ตุลาการเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่ควรพิจารณาวาระอื่นใด หากประธานธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังนั่งอยู่ในที่ประชุม ทำให้ต้องเลื่อนวาระการประชุมอื่นๆ ออกไปทั้งหมด
สำหรับคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 203 ระบุว่า เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย
(1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(4) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดํารงตําแหน่งกรรมการสรรหาตาม (2) หรือกรรมการสรรหาตาม (4) มีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่
ให้สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธรุการของคณะกรรมการสรรหา
ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดําเนินการสรรหาจากบุคคลที่มีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 208 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ 9 ปี แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา207และมาตรา 208 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ 7 ปี และจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 75 ปี
ซึ่งนายวรวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2495 เพิ่งมีอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 1มี.ค.2565 ที่ผ่านมา และ นายวรวิทย์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2557 จนถึงขณะนี้ถือว่าดำรงตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน
ดังนั้น ถ้ายึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 นายวรวิทย์ จะติดเงื่อนไขอายุครบ 70 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ถ้าหากยึดตามรัฐธรรมนูญ 2560 นายวรวิทย์ ก็จะติดเงื่อนไขดำรงตำแหน่งมาเกินกว่า 7 ปี
ขณะเดียวกันโดยเฉพาะกาลมาตรา 79 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายที่ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือ พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18 ซึ่งมาตรา 18(4) กำหนดให้พ้นจากตำแหน่งตามวาระเมื่อมีอายุครบ 75 ปี