*** ขณะนี้ได้เกิดปัญหาขึ้นภายใน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ของ “วรวิทย์ กังศศิเทียม”
เมื่อ วรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วย จะมีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 1 มี.ค.นี้ (เกิด 1 มี.ค.2495) ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของ วรวิทย์ ว่า จะยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือ รัฐธรรมนูญปี 2560
โดยรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ตุลาการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี หรือ ต้องอายุไม่เกิน 70 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเรื่องใดมาถึงก่อน กรณีของ วรวิทย์ จะอายุครบ 70 ปี ก่อนถึงวาระ 9 ปี ซึ่ง วรวิทย์ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 และอยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน
สำหรับรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 7 ปี หรือ ต้องอายุไม่เกิน 70 ปี แต่สามารถขยายอายุได้ไม่เกิน 75 ปี
กรณีดังกล่าวทำให้เกิดความเห็นแย้งกันเองของ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลฯ ที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2.จิรนิติ หะวานนท์ มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3.อุดม สิทธิวิรัชธรรม สายศาลฎีกา 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน สายศาลฎีกา
5.บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ สายศาลปกครองสูงสุด 6.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8.ปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 9.นภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ
ทำให้ทั้ง 9 คน ต้องหารือกัน “นอกรอบ” เพื่อเคลียร์ปัญหาให้จบ แต่ความเห็นของตุลาการฯ ยังไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะช่องว่างของรัฐธรรมนูญ 2550 และ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ลักลั่นกันอยู่
ขณะที่มีกระแสข่าวว่า กรณีนี้ความเห็นของตุลาการฯ ทั้ง 9 คน แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ขั้วแรกมี 5 เสียง ต้องการให้ทำตามข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการศาลฯ โดยนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 23 ก.พ.นี้ ซึ่งขั้วนี้มีแนวทางให้นำรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาฟิวชั่นกัน(หลอมรวมกัน)
โดยมีความเห็นสอดคล้องกันว่า วรวิทย์ สามารถดำรงตำแหน่ง อยู่ในวาระต่อไปครบ 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และขยายอายุจากไม่เกิน 70 เป็นไม่เกิน 75 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องไว้
ขั้วที่สองมี 4 เสียง เห็นว่า ความเห็นของขั้วแรกไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก วรวิทย์ ได้ประโยชน์จากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดว่า ตุลาการฯ ต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี
ส่วน “วรวิทย์”เอง ได้ให้สำนักงานเลขาธิการศาลฯ ยึดเกณฑ์อายุตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดวาระดำรงตำแหน่งให้สามารถขยายอายุจาก 70 ได้ถึง 75 ปี
แต่ก็มีตุลาการฯ บางคนเห็นแย้งว่า ตุลาการฯ ไม่มีสิทธิวินิจฉัยได้ด้วยตัวเอง ว่า กรณีของ วรวิทย์ มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนั้น ควรเป็นหน้าที่ของกรรมการสรรหา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 208 ระบุว่า ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งได้มีความเห็นแย้งว่า ไม่มีองค์กร หรือ หน่วยงานใดที่วินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะหากปล่อยให้มีองค์กร หรือ หน่วยงานใดมาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ทางกฎหมายทันที โดยเฉพาะ “วงการศาล” ที่อาจฉวยโอกาสยื่นให้องค์กร หรือ หน่วยงานใด ที่มาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กระทำการวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตได้
นอกจากนี้ ยังมีตุลาการฯ บางคน มีความเห็นว่า ในการประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว วรวิทย์ ไม่ควรอยู่ในห้องประชุม กรณีที่พิจารณาเรื่องที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับมีกระแสข่าวว่า วรวิทย์ จะเข้าร่วมโหวตวาระดังกล่าวด้วย เนื่องจากหากตัดคะแนนของ วรวิทย์ ออก จะทำให้เสียงของ 2 ขั้ว เท่ากันที่ 4 ต่อ 4 เสียง
ประเด็นความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตีความรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ เพราะหากยึดหลักตีความเข้าข้างตัวเอง อาจถูกนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นได้
โดยเฉพาะปมการดำรงตำแหน่ง “นายกฯ 8 ปี" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความลักลั่นจากรัฐธรรมนูญ 2550 และ รัฐธรรมนูญ 2560 ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน
23 ก.พ.นี้ น่าจับตาว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกันหรือไม่ และผลจะเป็นเช่นไร...