“สนธิรัตน์”แนะเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ เพิ่มพลังงานทางเลือก 

20 มี.ค. 2565 | 01:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2565 | 09:25 น.

“สนธิรัตน์”แกนนำสร้างอนาคตไทย เสนอทางออกแก้วิกฤตพลังงานช่วงสงคราม แนะยกเว้นอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ 3 เดือน คิดอิงต้นทุนจริงจากราคาน้ำมันดิบ เพิ่มพลังงานทางเลือกผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยประชาชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและ แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย เชิญชวนร่วมกันคิดหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ที่รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน

 

นายสนธิรัตน์ โพสต์เฟซบุ๊ค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.65 ว่า ผมขอชวนทุกคนคิดกันครับว่า ในช่วงที่ราคาพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซ) ขาขึ้นที่ถูกผลกระทบจากสงครามหรือจะเป็นช่วงที่ความต้องการปริมาณพลังงานมากๆ นี่ เราจะหาวิธีช่วยผ่อนคลายปัญหากันได้อย่างไร

อย่างเรื่องน้ำมัน ก็มีข้อมูลว่า 1. ปริมาณการผลิตน้ำมันและ Condensate ในประเทศไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนไม่สูงนักหรือเฉลี่ยราว 18% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณการบริโภคน้ำมันภายในประเทศ

 

นั่นหมายความว่าน้ำมันอีกประมาณ 80% ที่เราใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อว่าวันนี้คือ ‘นำ้มันนำเข้า’ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปน้ำมันดิบแล้วนำมากลั่นในประเทศไทย

2. โครงสร้างราคานำ้มันในประเทศไทย (ตามที่สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเผยแพร่)

 

2.1 ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ประมาณ 40-60% 

 

2.2 ภาษีต่างๆ ประมาณ 30-40% 

 

2.3 กองทุนต่างๆ ประมาณ 5-20% 2.4 ค่าการตลาด ประมาณ 10-18%

 

ถ้าอย่างนั้น ในช่วงวิกฤตแบบสงครามนี่ เราหยุดชั่วคราวในการอ้างอิงราคาโรงกลั่นจากสิงคโปร์ บวกค่าขนส่ง ค่าต้นทุนอื่นๆ มาเป็น การคิดอิงต้นทุนจริง คือ จากราคาน้ำมันดิบที่ซื้อ บวก ค่ากลั่น (โรงกลั่นของเราเองในประเทศ) ในระดับที่ต่ำที่สุดในช่วงสัก 3 เดือน แล้วก็ลดภาษีนำเข้าให้ต่ำลง 

                                    “สนธิรัตน์”แนะเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ เพิ่มพลังงานทางเลือก 

ยอมสูญเสียรายได้ชั่วคราวจากส่วนภาษีนี้ และลดค่าการตลาดลงบ้าง แบบนี้ เราก็น่าจะตรึงราคาและป้องกันการพุ่งของราคาสินค้าหรือค่าครองชีพอื่นๆ ของคนไทยได้

 

หรือ เรามาคิดว่าใน 18% ที่ประเทศไทยผลิตได้เอง เราสามารถคิดในสัดส่วนดังกล่าวนี้ว่าไม่ต้องอิงราคาตลาดโลกได้หรือไม่ 

 

อย่างน้อยเชื่อว่า จะทำให้ราคาเฉลี่ยควรจะลดลงบ้าง ในช่วงภาวะไม่ปกติ และอาจจะทำให้ภาพในมุมอื่นๆ ที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับโครงสร้างต้นทุนนำ้มันได้

 

หรือ อย่างเรื่องก๊าซนี่ เราต้องทราบแล้วว่าตลาด LNG เป็นตลาดตึงตัว คือ ความต้องการซื้อ (Demand) พอๆ กับ ของที่จะขาย (Supply) ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ Supply มีมาก และจะตึงตัวไปอีก 2-3 ปี เพราะฉะนั้น ราคาก็พร้อมจะผันผวน ช็อคตามสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่าย อีกทั้งการขนส่ง LNG มีปัญหาเรื่องเรือไม่เพียงพอและค่าขนส่งที่สูง

 

มีข้อมูลว่า สัดส่วนโครงสร้างกิจการการผลิตไฟฟ้าของประเทศปัจจุบัน ประมาณ 55-60% จะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง นั่นหมายความว่าเรามีความเสี่ยงต่อราคาค่าไฟหากเกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนเรื่องก๊าซ 

 

อีกทั้งปริมาณก๊าซในอ่าวไทยเราเหลือน้อยลง และนำขึ้นมาใช้ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย อันเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานที่ดำเนินการไม่ดีพอ สำหรับไฟฟ้าที่เหลือคือโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในต่างประเทศ การใช้ถ่านหินที่มีในทั้งประเทศและต่างประเทศ เชื้อเพลิงชีวภาพชีวมวล หรืออื่นๆ คงต้องเร่งรัดและบริหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

เราต้องมาคิดเรื่องเหล่านี้ ที่มองได้ว่าเป็นความเปราะบางทางความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ การพึ่งพิงเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นหลัก เมื่อเกิดความไม่สมดุลของเชื้อเพลิงนั้น ย่อมเกิดความผันผวนทางด้าน Supply และราคา 

 

และด้วยเทคโนโลยีหลายๆอย่างในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุน Renewable Energy (พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ) ก็ยังสามารถเป็นทางออกในการบริหารความเสี่ยงด้านพลังงานที่พึ่งพาแก๊สในปัจจุบันได้หากต้องบริหารจัดการเชิงรุก และเป็นไปตามกระแสสิ่งแวดล้อมของโลกครับ

 

“นี่ก็เป็นแนวทางของผมที่ชวนทุกคนคิดครับ”