"สนธยา"โชว์ผลงาน5 ด้าน พัฒนาพัทยา ชูยุทธศาสตร์"นีโอพัทยา"

24 มี.ค. 2565 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มี.ค. 2565 | 15:28 น.

"สนธยา" แถลงผลงาน 3 ปี โชว์ผลงาน 5 ด้าน พัฒนาพัทยา ชูยุทธศาสตร์"นีโอพัทยา"วางรากฐานสู่เมืองนานาชาติ สมาร์ทซิตี้ มุ่งแก้ปัญหาท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

24 มี.ค.65 นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา แถลงผลงาน 3 ปี นายกเมืองพัทยาและอนาคตของเมืองพัทยา โดย กล่าวว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2561 ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

 

"ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาบริหารงานภายใต้วิสัยทัศน์ “นีโอพัทยา” เพื่อปรับเปลี่ยนพัทยาให้มีเศรษฐกิจกระจายหลายด้าน ทั้งท่องเที่ยว พักอาศัย และประกอบธุรกิจให้สามารถปกป้องตัวเองได้ดีจากวิกฤตในอนาคต"
 

นายสนธยา  กล่าวว่า แนวทางล่าวจะยกระดับพัทยาให้เป็นเมืองน่าอยู่นานาชาติและเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุกคน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 มีการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ ช่วยให้พัทยาผ่านพ้นวิกฤต มีการรักษาผู้ป่วยและฉีดวัคซีนเชิงรุก ดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการพัทยาก็มีรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวก้าวสู่มิติใหม่ในฐานะ “เมืองต้นแบบ” และเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันออก  

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา

สำหรับ ผลงานสำคัญในช่วง 3 ปี แบ่งเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 แม้ว่าเมืองพัทยาจะมีบทบาทจำกัดในฐานะองค์กรท้องถิ่น แต่ก็สร้างความปลอดภัย อุ่นใจ ให้ประชาชน ชุมชน และนักท่องเที่ยว เป็น Blue Zone เปิดพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 มีมาตรการเชิงรุกตรวจหาผู้ติดเชื้อ คัดกรองผู้ป่วยและการเยียวยารักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งไวรัสสายพันธุ์เดลต้าและโอไมครอน วางระบบ Hospitel ที่มีคุณภาพ 800 เตียง 

 

รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานภาคบริการที่ตกงาน จัดสรรงบประมาณซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มและบริการทั่วถึง ฉีดไฟเซอร์สำหรับเด็กเยาวชน 5,000 คน การจ่ายเงินเยียวยา 2 ครั้งๆ ละ 1,000 และ 2,000 บาทต่อครอบครัว โครงการ “หมอถึงบ้าน” ฉีดวัคซีนกับกลุ่มเปราะบางถึงที่บ้าน เป็นต้น

 

2.  ด้านการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในภาวะวิกฤต โดยเมืองพัทยาได้การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวสำคัญชายหาดและวอล์คกิ้งสตรีท ถนนคนเดินพัทยาใต้ ชายหาดจอมเทียน การพัฒนาเกาะล้านสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แลนด์มาร์คใหม่ดึงดูดการท่องเที่ยว

 


 

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา

 

3. ด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาแบบครบวงจร ขับเคลื่อนการลงทุนแบบบูรณาการ ลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดวิกฤตน้ำท่วมซ้ำซากหรือชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำ มีทีมฟื้นฟูสู่สภาพปกติทันที เยียวยาประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ว่า ชุมชนนาเกลือ ชุมชนซอยแตงโม บัวขาว บงกช โซนพัทยากลาง ชุมชนถนนเทพประสิทธิ์และชุมชนซอยวัดบุญสัมพันธ์ หาดจอมเทียน และถนนสุขุมวิท 
 

นอกจากยังมีการปรับปรุงระบบระบายน้ำสายหลักและสายรอง ก่อสร้างท่อส่งแรงดันน้ำ ขยายท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้น สร้างสถานีสูบน้ำ การขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติม เพื่อผันน้ำออก และโครงการวางท่อระบายน้ำฝั่งตะวันออกของทางรถไฟจะแล้วเสร็จปี 2566 รวมถึงการรื้อถอนอาคารผู้ฝ่าฝืนรุกล้ำที่สาธารณะ บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อย่างเด็ดขาด
 


4.  ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และสุขภาพประชาชน  เมืองพัทยามีโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดเมืองพัทยาระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มบิ๊กทรีส์, กลุ่มเครือข่ายต้นไม้ในเมือง, และสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย สร้างมาตรฐานการดูแลต้นไม้ สวนพักผ่อน ที่จะเริ่มสามแห่งในปีนี้ โครงการนีโอเกาะล้านส่งเสริมประชาคมมีส่วนร่วมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม

 

ด้านการสาธารณสุขได้ปรับปรุงโรงพยาบาลเมืองพัทยา รองรับผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ สร้างคนรุ่นใหม่และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มพื้นที่สาธารณะสำหรับออกกำลังกายและพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อน เป็นต้น

 

. ด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ อีอีซี ได้จัดทำแผนแม่บทดิจิทัลพัทยาระยะ 5 ปี รองรับวิถีชีวิตยุคใหม่ เน้นความเป็นสมาร์ทซิตี้ นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเมืองพัทยาเป็นดิจิทัลออฟฟิศให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกรวดเร็ว 

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและต้องสานต่อเพื่ออนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ "ลานโพธิ์-นาเกลือ" สู่ตลาดอาหารทะเลระดับโลกเป็นแลนด์มาร์คใหม่ ได้รับงบประมาณและเริ่มก่อสร้างอาคารจอดรถ รองรับได้ 239 คัน และจะปรับปรุงตลาดขายอาหารทะเลสดและของฝาก เปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเมืองพัทยามาร่วมสร้างรายได้ 

 

นอกจากนี้ เมืองพัทยายังมีแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเบ็ดเสร็จในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา รถไฟฟ้ารางเบา (Tram Way) จะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)