กกต.เรียกสอบ "พรรคก้าวไกล" ปมอภิปรายตรวจสอบงบฯสถาบันฯ

29 มี.ค. 2565 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 20:31 น.

กกต. ส่งหนังสือเรียก "พรรคก้าวไกล" ชี้แจงกรณีส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92 (2) เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือเรียกไปชี้แจงกรณีที่มี ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายตรวจสอบงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92 (2) เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่

 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า มีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ว่าการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เมื่อเดือน ส.ค.54 ของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในประเด็นงบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์ ว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

 

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลขอชี้แจงว่า ประการแรก ตามบันทึกข้อเท็จจริง และรับทราบข้อเท็จที่ กกต.ส่งมาถึงพรรคก้าวไกล เพื่อให้โต้แย้งประเด็นที่ถูกร้องไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ข้อความใดที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข มีแต่ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ทั้งที่ข้อหาร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคการเมือง

 

ประเด็นที่สอง การอภิปรายงบประมาณตามที่ถูกร้องเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของผู้แทนราษฎร เพื่อให้งบประมาณทุกหมวด ทุกกระทรวง ทุกหน่วยรับงบประมาณ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การกระทำของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และไม่ใช่เหตุที่ทำให้ถูกยุบพรรคได้

 

ทั้งนี้  นายชัยธวัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลมีแต่ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และยังทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพ ดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย มีพระราชสถานะดำรงไว้ดังเช่นนานาอารยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ เราจะยืนหยัด ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ของประชาชน และอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน

 

ขณะที่ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวเสริมว่า กระบวนการพิจารณางบประมาณเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นขั้นตอนปกติที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีส่วนร่วมแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้มีประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน การอภิปรายของตนเป็นการอภิปรายตามชื่อโครงการ และหน่วยงานตามเอกสารรับงบประมาณทั้งสิ้น

 

" เมื่อหน่วยราชการของบประมาณมา ถ้าเราเห็นงบประมาณไม่เหมาะสมเช่นนี้เรามีหน้าที่ตัด จัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และภายหลังจากการอภิปรายเสร็จแล้ว ในการลงพื้นที่ตนได้รับกระแสตอบรับจากประชาชน เป็นกำลังใจให้กับพรรคก้าวไกล และเห็นด้วยกับการตัดลดงบส่วนราชการในพระองค์ ในฐานะ ส.ส.ขอยืนยันว่าจะยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และตรวจสอบงบประมาณต่อไป เราจะต่อสู้ ยืนหยัด ยืนตรง ประจันหน้าต่อผู้มีอำนาจ เพื่อเรียกศรัทธาให้กับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน"

 

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า "กรณีนี้เป็นการทำให้ ส.ส.และสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น หากเราไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ตนไม่แน่ใจว่าเราจะมีสภาผู้แทนราษฎรไว้ทำไม หากเรามองอย่างเป็นธรรม การที่มีหน่วยงานของบประมาณจากประชาชน เราต้องทำหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณ อภิปรายงบประมาณ

 

แต่กรณีเช่นนี้เมื่อเราทำหน้าที่แล้วกลับถูกโดนฟ้องร้อง ข้อหาถึงยุบพรรค สุดท้ายการตัดงบประมาณไม่สามารถทำได้เลย นี่เป็นการสร้างความกลัวที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับพรรคก้าวไกล แต่เป็นการสร้างความกลัวให้กับผู้แทนราษฎรทุกคน"