ส่องคดีการเมือง“รอเวลา”จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

27 ก.พ. 2565 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.พ. 2565 | 11:15 น.

ส่องคดีการเมือง“รอเวลา”จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ : อัพเดทคดีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ รอเวลาวินิจฉัยชี้ขาด และคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กกต. ว่าจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อหรือไม่

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเรื่องราวทางการเมืองหลายเรื่องที่ถูกร้องเรียนให้องค์กรต่างๆ ตรวจสอบเพื่อเอาผิดกันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการร้องไปที่ “ศาลรัฐธรรมนญ” หรือ ร้องผ่าน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. เพื่อให้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

 

“ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปอัพเดทคดีที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่รอเวลานัดวินิจฉัยชี้ขาด และคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กกต. ว่าจะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อหรือไม่

ไปดูคดีที่อยู่ในมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กันก่อน

 

คดีคุณสมบัติส.ส.ภูมิใจไทย    

 

คดีแรก เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพส.ส. ของ นายสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ย้ายมาจากอนาคตใหม่) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) หรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย 

 

และให้ นายสำลี ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และมีมติเอกฉันท์ให้ นายสาลี หยุดปฏิบัติหน้าที่สงส. ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.2564 

คดีนี้เป็นกรณีศาลมหาสารคามมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี กรณีพิพาทกับสถานบันเทิงใกล้บ้าน และได้ทำลายทรัพย์สินของสถานบันเทิงดังกล่าว …คาดว่าอีกไม่นานศาลฯ คงจะได้นัดลงมติและแถลงคำวินิจฉัย

 

คดีคุณสมบัติ“นิพนธ์” 

 

คดีที่สอง เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรไว้พิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีถูกคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทยให้พ้นจากตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา  (นายกอบจ.สงขลา)

 

หลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถอเนกประสงค์ 2 คัน มูลค่า 50 ล้านบาท ให้แก่บริษัเอกชน สมัยเป็นนายก อบจ.สงขลา ปี 2556

 

คดีนี้ ศาลฯ ได้ให้ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคำร้องยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกต้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจึงมีคำสั่งว่าผู้ถูกร้องไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ...คดีนี้คาดว่าอีกไม่นานศาลฯ น่าจะนัดลงมติและมีคำวินิจฉัยออกมาได้

 

ยุบพรรคไทรักธรรม  

 

คดีที่สาม เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง กกต.ไว้วินิจฉัย กรณีให้ยุบพรรคไทรักธรรม จากการกระทำการฝ่าฝืนพรบ.พรรคการเมือง มาตรา 30 โดยให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงินฯ เพื่อจูงใจให้บุคคลสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค 

 

โดย กกต.ขอให้ศาลฯ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (มีนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบันเจ้าตัวเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ) และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ภายใน 10 ปี


คดีนี้ศาลฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา

                                  

                              ส่องคดีการเมือง“รอเวลา”จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

คดีที่ต้องไปจบศาลรธน. 

 

จากคดีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ไปดูคดีที่มีการร้องผ่าน “กกต.” เพื่อให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 5 กรณี ประกอบด้วย

 

เรื่องที่อยู่ในความสนใจคือ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 วรรค 4 ระบุว่า นายกฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะครบ 8 ปี วันที่ 8 มิ.ย.2570 


โดยฝ่ายค้านเตรียมจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ในเดือน ส.ค.2565 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ รับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค.2557 ในยุครัฐบาล คสช.เท่ากับจะครบ 8 ปีแล้ว


มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า จะเริ่มนับการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อไหร่ ระหว่างเริ่มนับตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 เริ่มนับ 16 เม.ย.2560 หรือ เริ่มนับ 9 มิ.ย.2562 ที่เข้าเป็นนายกฯ สมัยสอง


ยื่นยุบพรรคก้าวไกล  


เรื่องที่สอง เป็นกรณีแกนนำและสมาชิกพรรคก้าวไกล ถูกร้องเรียนต่อกกต.ให้ตรวจสอบการสนับสนุนม็อบคณะราษฎร เช่น เข้าร่วมชุมนุม การประกันตัวแกนนำม็อบ รวมถึงการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดสถาบันกษัตริย์ เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย  


จากกรณีปล่อยให้บุคคลอื่นครอบงำชี้นำการดำเนินกิจการของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอยู่ 3 กรณีคือ


-กรณีทักษิณวิดีโอคอล มางานเลี้ยงวันเกิดของ เกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย


-กรณีการตั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลและจำคุกคดีทุจริตให้เป็นผู้อำนวยการพรรค อาจมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกพรรค


-กรณี วิฑูรย์ นามบุตร อดีตส.ส.ปชป. บินไปดูไบพบ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อคุยขอตำแหน่งในการย้ายเข้าไปอยู่กับนพรรคเพื่อไทย


+ยื่นยุบพลังประชารัฐ


- กรณี อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ขณะนั้นเซ็นรับรองส่ง สิระ เจนจาคะ ลงส.ส.กทม. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการลงสมัครส.ส. ในปี 2565 


-กรณี ศรีสุวรรณ จรรยา ร้องให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เรียกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ เข้าหารือ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2564 เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 28 และ มาตรา 29 หรือไม่


-กรณีพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ 21 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า


ยื่อยุบพรรคเศรษฐกิจไทย?

 

กรณีสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่น กกต.ให้ตรวจสอบ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่โพสต์ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 3 ก.พ.  ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า “จะไปรับหน้าที่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อสานต่อนโยบายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” 


เห็นว่า แม้ว่าในเวลาต่อมากรณีดังกล่าวจะมีการแก้ไขข้อความการโพสต์ และบอกว่า เป็นการกระทำของแอดมินเพจ แต่ก็เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถรับฟังได้ จึงอาจเข้าข่ายฝ่ายฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 29 ที่ห้ามผู้ใดซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมือง 


 3 คดีในมือศาลรัฐธรรมนูญ และอีก 5 กรณีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของกกต. จะมีคดีใดบ้างไป “จบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” น่าติดตามยิ่งนัก...