นนี้(31มี.ค.) เวลา 16.00น.นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงสรุปการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครวันแรก ว่ามีผู้มาสมัครว่าการกรุงเทพฯทั้งสิ้น 20 ราย
โดยในครึ่งวันเช้ามีผู้มาสมัครรวม 17 รายและในช่วงบ่ายมีมาสมัครเพิ่มเติมอีก 3 ราย ได้แก่ น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ ได้หมายเลข 18 นายไกรเดช บุนนาค ได้หมายเลข 19 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ ได้หมายเลข 20 รวม 20 คน
โดยผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีอายุมากสุด 72 ปี น้อยสุด 43 ปี เป็นชาย 16 คน หญิง 4 คน
สำหรับการรับสมัคร สก. วันนี้มีจำนวน 343 คน โดยเขตที่สมัครมากสุดจำนวน 9 คน ได้แก่ เขตธนบุรี เขตจอมทอง และเขตวังทองหลาง น้อยสุด 5 คน ได้แก่ เขตดุสิต และเขตป้อมปราบ
ทั้งนี้ หลังจากปิดรับสมัครรับเลือกตั้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร
สำหรับการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะมีไปถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
การแจ้งช่องทางหาเสียง
เน้นย้ำให้ผู้สมัครฯ รีบดำเนินการแจ้งช่องทางการหาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่ามีช่องทางใดบ้างและมีค่าใช้จ่ายเท่าไร แจ้ง รายชื่อและจำนวนผู้ช่วยหาเสียง พาหนะที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง สถานที่หรือเวทีหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อใช้ในการคำนวณงบประมาณในการหาเสียงเลือกตั้ง
โดยให้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร B ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันที่ 25 มีนาคม 2565 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้ายการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ 2563
ทั้งนี้วงเงินในการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องไม่เกิน 49 ล้านบาท ส่วนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 0.8 -1.2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่และประชากร ผู้สมัครที่กระทำผิดจะถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง 5 ปี
ขอความร่วมมือผู้สมัครทำตามประกาศกำหนดการติดป้ายหาเสียง
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ และสถานที่ปิดประกาศ รวมทั้งสถานที่ห้ามปิดประกาศไว้อย่างชัดเจน อาทิ สถานที่ปิดประกาศ ได้แก่ บริเวณป้ายปิดประกาศของสำนักงานเขต โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้สมัครปิดประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น เท่านั้น