วัชระ ร้อง"ชวน" ฟันขบวนการ ทุจริตสร้างรัฐสภา หลังเจอสวมตอ"ไม้ตะเคียนทอง"

01 เม.ย. 2565 | 08:22 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2565 | 15:47 น.

วัชระ ร้องประธานรัฐสภา ฟันขบวนการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังตรวจพบใช้ไม้พะยอม สวมตอ"ไม้ตะเคียนทอง" อ่วมกก.ตรวจการจ้างชงบอกเลิกสัญญา พร้อมดำเนินคดีอาญาฉ้อโกง แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามด้วยแพ่ง-วินัย-ละเมิด

  1 เม.ย.65  นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย กรณีมีการกระทำที่ส่อถึงการกระทำความผิดทางอาญา แพ่ง วินัย และละเมิด ในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ เกี่ยวกับไม้ในการก่อสร้างและตกแต่งอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

 

 ด้วยขณะนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งข้อกำหนดในสัญญา ก่อสร้างระบุให้ผู้รับจ้างใช้ “ไม้ชนิดตะเคียนทอง” ปูพื้น แต่ปรากฏผลการพิสูจน์จากกรมป่าไม้  ลงวันที่ 11 ก.พ.65 แจ้งผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างไม้ ผลปรากฏว่าเป็น “ไม้พะยอม” มิใช่ “ไม้ตะเคียนทอง”

 

ตามข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้างฯ การใช้ “ไม้พะยอม” มาปูพื้นแทน “ไม้ตะเคียนทอง” เป็นเหตุให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ว่าจ้าง) ซึ่งเป็นส่วนราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

นายวัชระ เพชรทอง ร้อง"ชวน หลีกภัย" ฟันขบวนการทุจริตก่อสร้างอาคารรัฐสภา .s,j

 เนื่องจากคุณภาพของไม้ไม่ตรงตามข้อกำหนดในสัญญาก่อสร้างฯ และมีคุณภาพต่ำกว่าที่กำหนด ประกอบกับได้มีการจ่ายเงินซึ่งได้มาจากงบประมาณแผ่นดินอันมาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศให้แก่ผู้รับจ้างไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท จากจำนวนเงินตามสัญญาจ้างทั้งสิ้น 12,280 ล้านบาทนั้น

 

การกระทำดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว กรณีจึงมิใช่การที่ยังมิได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง แต่เป็นความผิดทางอาญาสำเร็จแล้ว จึงต้องมีผู้รับผิดจากการ กระทำความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. 2554 บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 

 

โดยมี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ประกอบพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง และประเภททรงคุณวุฒิ

 รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเห็นชอบในการประเมินเลื่อนเงินเดือน และลงโทษข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่กระทำความผิดทางวินัย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อสืบหาและลงโทษข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่กระทำความผิดดังกล่าว 

 

ตลอดจนสั่งการให้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลภายนอกที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดตามกฎหมายโดยด่วน รวมทั้งตรวจสอบพฤติกรรมของนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

 

รวมถึงการยึดมั่นในหลักการบริหารงาน “บ้านเมืองสุจริต” เพื่อ เป็นตัวอย่างที่ถูกต้องของการต่อต้านการทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ด้วย 

 

อนึ่ง นายวัชระได้นำเรื่องนี้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายด้วยแล้ว ทั้งนี้ การนำไม้ไม่ตรงสเปคตามสัญญามาสร้างอาคารรัฐสภาผ่านการตรวจงานของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาCAMAและบริษัทผู้ควบคุมงาน ATTA แล้ว

 

และคณะกรรมการตรวจการจ้างฯได้ตรวจรับงานแล้วตามที่ผู้รับเหมาแจ้งว่าเป็นไม้ตะเคียนทองตามสัญญาและเบิกเงินงวดงานไปหมดแล้วจึงเข้าข่ายความผิดอาญาฐานฉ้อโกงและแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

 

ตามหนังสือของกรรมการตรวจการจ้างฯที่ส่งถึงนายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างฯลงวันที่ 14 มี.ค.65 อันเป็นเหตุที่ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างได้

 

และนางพรพิศ  เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบแล้วและสั่งข้าราชการห้ามไม่ให้หนังสือฉบับนี้หลุดรอดถึงนายวิลาศ  จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานกมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาด

           วัชระ ร้อง\"ชวน\" ฟันขบวนการ ทุจริตสร้างรัฐสภา หลังเจอสวมตอ\"ไม้ตะเคียนทอง\"    วัชระ ร้อง\"ชวน\" ฟันขบวนการ ทุจริตสร้างรัฐสภา หลังเจอสวมตอ\"ไม้ตะเคียนทอง\"