เปิด 6 ตัวเต็งชิงดำเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

02 เม.ย. 2565 | 02:09 น.

แห่สมัครผู้ว่าฯ กทม. 2 วันแรก 25 คน ขณะที่ ส.ก.สมัครแล้ว 356 คน เปิด 6 ตัวเต็ง “ชัชชาติ-สุชัชวีร์-อัศวิน-วิโรจน์-ศิธา-สกลธี” ลุ้นบริหารเมืองหลวง ด้านนายกเมืองพัทยา ชิงเก้าอี้กัน 4 คน

การรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมถึง นายกเมืองพัทยา และ สมาชิกสภาเมืองพัทยา ได้เริ่มเปิดรับสมัครเลือกตั้งวันแรก เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา และเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 4 เม.ย. ก่อนลงคะแนนเสียงวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.2565

 

สำหรับการรับสมัครในวันแรกนั้น นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธาน กกต.กทม. แถลงสรุปผล ในช่วงเช้าวันแรกของการเปิดรับสมัคร

นายขจิต กล่าวว่า ช่วงเช้ามีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เดินทางมาก่อนเวลา 8.30 น. จำนวน 14 ราย และได้ทำการจับสลาก เพื่อจัดลำดับการจับสลากหมายเลข ดังนี้


เบอร์17ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.


หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล หมายเลข 2 พล.ท.ญ.ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์

หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

 

หมายเลข 9 น.ส.วัชรี วรรณศรี ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา ผู้สมัครอิสระ


ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มาหลังเวลา 8.30 น. 3 คน จึงเรียงตามลำดับ ดังนี้ หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ ผู้สมัครอิสระ ช่วงบ่ายสมัครอีก 3 คน น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ หมายเลข 18 นายไกรเดช บุนนาค หมายเลข 19 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ หมายเลข 20  รวม 20 คน ขณะที่การรับสมัคร ส.ก. เบื้องต้นมีจำนวน 327 คน 


ส่วนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดรับสมัคร มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เพิ่มอีก 2 คน ประกอบด้วย หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ ที่ปรึกษากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ  ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บจก.ซัฟฟิเชียนท์  


 ขณะที่ ส.ก.มีสมัครเพิ่มอีก 13 รวม รวม 2 วัน สมัครแล้ว 356 คน


4 ผู้สมัครชิงนายกพัทยา


ส่วนการรับสมัครรับการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ที่บริเวณศาลาว่าการเมืองพัทยานั้น บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยบรรดาผู้สมัคร ทั้ง 3 ทีม และ 1 ผู้สมัครอิสระ ต่างขนลูกทีมร่วมสมัครกับทาง กกต.   


จากการจับสลากหมายเลขผู้สมัครปรากฏว่า นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ได้หมายเลข 1, นายศักดิ์ แตงฮ่อ ได้หมายเลข 2, นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ได้หมายเลข 3 และ นายสินไชย วัฒนศาสตร์สาธร ได้หมายเลข 4

                                                          เปิด 6 ตัวเต็งชิงดำเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.               


“ชัชชาติ”ลั่นแข่งกันที่นโยบาย


สำหรับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ ซึ่งได้ห่างหายการเลือกตั้งไป 9 ปี แต่ละขั้วการเมืองต้องแข่งขันชิงคะแนนกันเอง ขณะที่การเดินหน้าหาเสียงผู้สมัครบางคนก็ได้เปิดตัวหาเสียงมานานแล้ว ขณะที่บางคนก็เริ่มมาออกสตาร์ทเอาช่วงก่อนจะสมัครไม่กี่วัน  


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งจับสลากได้เบอร์ 8  ภาพจำในฐานะ "บุรุษที่แข็งแกร่งสุดในปฐพี" อดีต รมว.คมนาคม เขาเป็นอดีตแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคเพื่อไทย สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่ครั้งนี้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ประกาศความพร้อม เป็นคนแรก ๆ ตั้งแต่ 30 พ.ย.2562 เพราะคาดว่ารัฐบาลจะจัดเลือกตั้งในไตรมาสแรกของปี 2563 


หลายคนอาจเคยเห็นเขาใส่เสื้อยืดสีดำ สะดุดตาด้วยข้อความสีเขียวสะท้อนแสง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ร่วมกับทีมเพื่อนชัชชาติ วิ่งออกกำลังกายตามสวนสาธารณะและถนนใน กทม. ทุกวันเสาร์ เพื่อสำรวจทางเท้า และชัดเจนว่าเขามีสโลแกนในการหาเสียงคือ  “มาช่วยสร้างกรุงเทพให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”


ชัชชาติ บอกว่า ที่มีผู้สมัครครั้งนี้จำนวนมากถือเป็นเรื่องที่ดี มีการแข่งกันด้วยนโยบาย เป็นตัวเลือกให้ประชาชนเยอะขึ้น  ส่วนตัวก็ทำเต็มที่ ได้เบอร์ไหนไม่สำคัญเรามีความตั้งใจทำงาน
การลงพื้นที่หาเสียงของ ชัชชาติ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการรับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชน เพื่อให้สะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  เขาเคยบอกว่า ตัวเองมีแนวคิด จัดผู้ว่าฯ สัญจรเดินทางไป 50 เขต เพราะปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน


“ดร.เอ้”ดันเปลี่ยนกรุงเทพ


ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4  หรือที่หลายคนเรียกว่า พี่เอ้ ที่สละเก้าอี้อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในพรรคประชาธิปัตย์  ภายใต้สโลแกน "เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้"  สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัครส.ก.ครบ 50 เขต ซึ่งก็อาจจะได้เปรียบจากคะแนนเสียงจาก ส.ก.ของพรรค


วิสัยทัศน์ที่ ดร.เอ้ เคยนำเสนออย่างชัดเจน คือ กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่ทันสมัยต้นแบบของอาเซียน คำว่าเมืองสวัสดิการหมายความว่า ไม่ว่ายากดีมีจนแต่ต้องอยู่ในเมืองนี้เท่าเทียมกัน


“วิโรจน์”ชนเพื่อคนกรุงเทพ


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เบอร์ 1 ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยหวังว่าจะเป็นบันไดขั้นแรกที่ทำให้พรรคสีส้ม มีโอกาสปรับสถานะเป็นพรรครัฐบาลบ้าง เขามีภาพจำคือ “คนกล้าพูด ท่าทางปะฉะดะ” บางส่วนนำไปเปรียบเทียบกับ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.  2 สมัย  ทว่าจุดเด่นของเขา อาจจะมาจากคนรุ่นใหม่ เพราะพรรคสีส้มก็มีพลังสียงคนรุ่นใหม่ คือ กุญแจสำคัญ


วิโรจน์ มาพร้อมกับสโลแกนที่ว่า  "เมืองที่คนเท่ากัน  พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ" โดยพรรคก้าวไกล ส่งผู้สมัครส.ก. 50 เขต  สโลกแกนนี้วิโรจน์ต้องอธิบายให้กระจ่าง เพื่อไม่ให้สังคมรู้สึกว่าเป็นการท้าตีท้าต่อย หรือทำให้ชาว กทม. เสียประโยชน์  


ครั้งหนึ่ง วิโรจน์ เคยลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทางม้าลายภายหลังเกิดเหตุตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ขับบิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” ขณะข้ามทางม้าลายหน้า รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นการประเดิมงานแคนดิเดต “พ่อเมือง กทม.” วันแรก เลยก็ว่าได้


อัศวิน : กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6  อดีตผู้ว่าฯกทม. ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล คสช. แทน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่โดนปลดออก จึงเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการแต่งตั้ง บริหารกทม.มาได้ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ตัดสินใจขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการประกาศลั่น อีก 3 เดือนจะกลับมา จึงมาในสโลแกน "กรุงเทพฯต้องไปต่อ"  


แม้จะลงในนามอิสระ แต่ส่งผู้สมัคร ส.ก. ครบ 50 เขต จุดเด่นของเขา ว่ากันว่าน่าจะเป็นการรสร้างเครือข่าย คะแนนจัดตั้ง ในชื่อกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ด้านทีมงานที่ร่วมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ มีทั้งกลุ่มคนลุยเมือง ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เคยร่ามงานพัฒนากรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ สมัยที่ พล.อ.อัศวิน เป็นผู้ว่าฯ 


1.นโยบายเมืองป้องกันน้ำท่วม 2.นโยบายเมืองเดินทางสะดวก 3.นโยบายเมืองแห่งสุขภาพ 4.นโยบายเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม 5.นโยบายเมืองปลอดภัย 6.นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ 7.นโยบายเมืองดิจิทัล 8.นโยบายเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย


“ศิธา”ชู 3Pแก้ปัญหาคนกรุง


น.ต.ศิธา ทิวารี  หรือ ผู้พันปุ่น เบอร์ 11  อดีต ส.ส.กทม. และ อดีตนักบิน F-16  ที่ห่างหายเวทีการเมือง รอบนี้ขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์  ประธานพรรค เป็นผู้ผลักดัน 


“ดิฉันลงเองไม่ได้ ดิฉันให้คนที่ไว้วางใจที่สุด มีฝีมือที่สุดและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของดิฉันทุกงานมาลงสมัคร มีดีเอ็นเอของสุดารัตน์เต็มที่ 100% มานำทัพไทยสร้างไทยในกทม.”  คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุ
นี่อาจจะเป็นจุดเด่นของเขา เพราะด้วยคะแนนนิยมของ คุณหญิงสุดารัตน์ เชื่อว่าจะได้คะแนนจากคนกรุง
ผู้พันปุ่น มาพร้อมสโลแกน "มหานครของโลกที่คนทั่วโลกยอมรับ" พร้อมเปิด นโยบาย 3P แก้ปัญหาคนกรุงฯ


P แรก คือ People สร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพฯ เพราะประชาชนคือผู้สร้างเมือง ไม่เชื่อว่าจะมีฮีโร่จากไหนมาสร้างกทม. แต่ประชาชนจะเป็นผู้สร้างเมือง เราจะลงทุนกับเรื่องการศึกษา และชีวิตประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


P ที่ 2 คือ Profit สร้างมหานครแห่งความมั่งคั่ง แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน เช่น หาบเร่แผงลอย ที่มีเทศกิจคอยทำหน้าที่ตรวจสอบชาวบ้าน มีอะไรอยู่ใต้โต๊ะ ตนจะนำเรื่องเหล่านี้ออกมาวางให้ประชาชนเห็น จะคืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนกับการแต่งตั้งโยกย้าย


และ P ที่ 3 คือ Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯอย่างยั่งยืน


“สกลธี”ชูกทม.ดีกว่านี้ได้  


ปิดท้ายกันที่ สกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 3 อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เดิมเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ถือเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญที่มีส่วนช่วยปลุกปั้นพรรคพลังประชารัฐ คู่กับ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ คนปัจจุบัน


เคยเสนอตัวจะลงสมัครผู้ว่าฯ สังกัดพรรค พปชร. แต่เกิดปัญหาภายใน ทำให้ตัดสินใจลาออกจากพปชร. มาลงสมัครในนามอิสระ มาพร้อมสโลแกน "กทม.ดีกว่านี้ได้"  จุดเเข็งคือ คะแนนจาก กลุ่ม กปปส. เพราะเคยมีบทบาทสำคัญในการชุมนุม


สกลธี เคยลงพื้นที่ซอยแจ้งวัฒนะ 14 พูดคุยกับกรรมการและรับฟังปัญหาประชาชนผู้อยู่อาศัยในชุมชน ถึงการจัดการระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ พร้อมยกตัวอย่างว่า การแก้ปัญหาเรื่องท่อระบายน้ำและถนนของกทม.ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ ติดขัดเรื่องข้อบัญญัติ กทม. ที่ระบุว่า ต้องใช้เฉพาะพื้นที่สาธารณะ ทำให้ที่เอกชนที่เชื่อมต่อที่สาธารณะไม่ได้รับการดูแล และกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ นายสกลธี มองว่า ปัญหาเหล่านี้ต้องกล้าแก้ไขข้อบัญญัติ


นี่คือส่วนหนึ่งของบรรดาผู้ลงสมัคร และคาดว่าผู้ที่จะคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ไปครองจะอยู่กับ 6 คนนี้ คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์,  พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง, วิโรจน์  ลักขณาอดิศร, น.ต.ศิธา ทิวารี  และ สกลธี  ภัททิยกุล ไม่คนใดก็คนหนึ่งแน่นอน...