thansettakij
กมธ.พิจารณา กม.ลูก2ฉบับ จ่อลงมติไพรมารี่โหวตพรุ่งนี้

กมธ.พิจารณา กม.ลูก2ฉบับ จ่อลงมติไพรมารี่โหวตพรุ่งนี้

06 เม.ย. 2565 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2565 | 09:46 น.

ชินวรณ์ เผย กมธ.พิจารณา กม.ลูก2ฉบับ เตรียมลงมติไพรมารี่โหวต พรุ่งนี้เชื่อเสร็จก่อนเปิดสมัยประชุมสภาฯ มั่นใจทุกพรรคหวังให้ร่างพ.ร.บ.ฯทั้ง2ฉบับเสร็จโดยเร็ว

 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.(ฉบับที่ ..)พ.ศ... เปิดเผยว่า การพิจารณาของกมธ.ฯ คืบหน้าไปมาก โดยกมธ.ฯ จะรวมประเด็นที่มีความสำคัญลงมติก่อน โดยไม่ต้องรอให้เสร็จทั้งฉบับ

 

เช่น ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กมธ.ฯได้ลงมติไปแล้วในเรื่องค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคและจะมีการลงมติในรายละเอียดประเด็นผู้ก่อตั้งพรรคหรือสมาชิกพรรคให้เข้ามามีส่วนเสนอแนะพรรคตามข้อเสนอบางส่วนหรือไม่

 

และเรื่องการจัดทำไพรมารี่โหวต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องลงมติแน่นอน โดยจะมีการลงมติในการประชุมกมธ.ฯวันที่ 7 เม.ย.นี้ และหากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเสร็จสิ้นก่อน ก็จะนำเวลาที่เหลือมาใช้พิจารณาในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

 

จึงมั่นใจว่ากมธ.ฯสามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯทั้ง2ฉบับได้ทันก่อนเปิดสมัยประชุมสภาแน่นอน มั่นใจว่าทุกพรรคต้องการที่จะให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จรวดเร็ว จึงคิดว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคการเมืองในการพิจารณาจากชั้นกรรมาธิการฯ” นายชินวรณ์ กล่าว

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์

เมื่อถามว่าในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีประเด็นอะไรที่ยังเป็นปัญหาถกเถียงกันไม่จบ นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำไพมารี่โหวต ซึ่งร่างของพรรคร่วมรัฐบาลใช้วิธีการแบบให้ตัวแทนจังหวัดในการที่จะสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเสนอกรรมการบริหารพรรค

 

แต่ในร่างเดิมการทำไพรมารี่โหวตยังให้ใช้วิธีการลงคะแนนซึ่งประเด็นนี้ยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน จึงต้องมีการถกเถียงกันก่อนที่จะลงมติ

 

ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ยังมีเรื่องการคำนวนสัดส่วนบัญชีรายชื่อ ถ้าตามร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่ยึดตามร่าง 91 ซึ่งไม่มีประเด็นอื่นใด โดยยึดแบบตรงไปตรงมา ด้วยการหารด้วย 100 แต่มีบางส่วนเห็นว่ามาตรา95 ยังไม่ได้แก้ไข ก็สามารถที่จะไปคิดสัดส่วนส.ส.ที่พึงมี จึงต้องมีการถกเถียงกันในแง่ของกฎหมายต่อไป

 


 

นายชินวรณ์  กล่าวว่า ตนเคยถามคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)แล้วต้องยืนยันให้ชัดเจนว่ากฎหมายที่เป็นติ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญมีผลต่อข้อเสนอของกมธ.ฯที่ขอแปรญัตติเข้ามาหรือไม่ โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะชี้แจงในวันที่มีการลงมติ

 

เมื่อถามว่าลักษณะต้องห้ามของผู้ก่อตั้งพรรค ที่อาจจะเปิดช่องให้ กปปส.หรือเสื้อแดงเข้ามา ทางฝ่ายค้ายจะมีการเสนอให้ตัดข้อความทิ้ง นายชินวรณ์ กล่าวว่า มีความคิดเห็นของฝ่ายค้าน

 

แต่ตนคิดว่าการร่างกฎหมายจะไปยึดเอาตัวบุคคลบางกลุ่มมาเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจไม่ได้ เราต้องยึดกฎหมายที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ดังนั้นพรรคการเมืองต้องไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำด้วยบุคคลภายนอก