ปิดฉากลงไปแล้ว 1 คดี สำหรับกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี และถูกฟ้องในข้อความผิดจริยธรรมร้ายแรง
เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2565 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)
กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม และขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี โดย น.ส.ปารีณา ไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงทนายความ เป็นตัวแทนมาฟังคำพิพากษา
คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องสรุปว่า ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลัก จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อทำประโยชน์ ที่ผู้คัดค้านที่ดิน 29 แปลง มีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ และมีทรัพย์สินที่ยื่นไว้กับป.ป.ช.กว่า 163 ล้านบ้าน จึงไม่ได้เป็นผู้ยากไร้ที่ทำกิน เป็นผู้ขาดคุณสมบัติครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปตั้งแต่แรก
การกระทำของผู้คัดค้านถือว่าไม่รักษาเกียรติภูมิของชาติ เป็นการจัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม มีพฤติการณ์เสื่อมเสีย อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ
ขณะที่ น.ส.ปารีณา หรือ ผู้คัดค้านคัดค้าน ชี้แจงว่า ได้เข้าครอบครองที่ดินตั้งแต่ปี 2484 ก่อนที่มีการประกาศเป็น พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวน ในปี 2507 โดยนายทวี ไกรคุปต์ บิดา ได้ซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้านผู้มีสิทธิ์มาทำฟาร์มสัตว์เลี้ยง และปลูกพืช โดยบิดาได้ยกที่ดินให้ดูแลกิจการ เพื่อนำเงินไปเลี้ยงดูบิดาตั้งแต่ 2555 ไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน จึงไม่มีเจตนาบุกรุก เผ้าถางป่า
และกรมป่าไม้ไม่เคยปักหมุดเขตป่าสงวน ว่ามีพื้นที่เริ่มตั้งแต่แนวใด ทำให้ประชาชนที่เคยครอบครองที่ดินไม่ทราบ ว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน เพราะมีการมาประกาศภายหลัง การที่กรมป่าไม้ดำเนินคดีกับผู้คัดค้าน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาผู้คัดค้านเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน และคืนที่ให้ทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข จึงฟังไม่ได้ว่าบุกรุกที่ตั้งแต่ปี 2549 การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาในการไต่สวนและมีมติ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนเอง
คืนที่ดินไม่เป็นผล
ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เห็นว่าประเด็นต้องวินิจฉัย ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ข้อ 11 ต้องมีการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ที่เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน อันกระทบต่อการสั่งการ หรือใช้ดุลพินิจอำนาจหน้าที่ดูแลควบคุมการตรวจสอบที่ตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย
ข้อเท็จจริง ผู้คัดค้านเป็น ส.ส.มีอำนาจเกี่ยวกับนิติบัญญัติ ร่างกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดูแลตรวจสอบกรมป่าไม้และสำนักงานปฏิรูปที่ดิมเพื่อการเกษตร
การครอบครองที่ดินของผู้คัดค้าน มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ ส.ส. ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืนมาตราจริยธรรมร้ายแรงฯ ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 3 ข้อ 27 วรรคสองหรือไม่ ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ดิน 665 ไร่ 1 งาน 53 ตร.ว. เป็นพื้นที่สีส้ม โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ใด
ขณะที่ที่ดินบริเวณโดยรอบมียื่นขอออกเอกสารสิทธิ สปก. 4-01 หลายแปลง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมต้องทราบว่า มีการปฏิรูปที่ดินเช่นเดียวกับคนอื่น
ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2562 สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ ประกาศให้มีการยื่นขอปฏิรูปที่ดินอีกครั้ง โดยเอกสารการยื่นขอปฏิรูปที่ดินกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องต้องมีอาชีพเป็นเกษตรกร และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯจะจัดสรรที่ดินให้ไม่เกินคนละ 50 ไร่ ซึ่งผู้คัดค้านก็ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เพราะมีที่ดินมากกว่าคนอื่น การเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินอาจมีผลให้ผู้คัดค้านสูญเสียที่ดินได้
การที่ผู้คัดค้านครอบครองที่ต่อจากบิดา โดยรู้ว่าเป็นที่เกษตรกรรม มีเจตนาไม่ส่งคืนเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและเลี่ยงการเข้ากระบวนการปฏิรูปมาตลอด จนมีการตรวจสอบ ผู้คัดค้านจึงคืนที่ดินให้ทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ข้อเท็จจริงหาใช่สมัครใจส่งมอบเองตามที่อ้าง
ประกอบกับผู้คัดค้านเป็น ส.ส. 4 สมัย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับที่ดินเขตปฏิรูป การครอบครองที่ดินของจำเลย ยังเป็นการปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่นไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้ คนทั่วไปจะแคลงใจว่าเหตุใจผู้คัดค้านจึงสามารถครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปได้หลาย 100 ไร่
กระทำเสื่อมเสียเกียรติ
เมื่อตรวจสอบสถานะผู้คัดค้านมีรายได้จากการเป็น ส.ส. 4 สมัย ใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ในรัฐสภา ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ มีกรรมสิทธิ์ที่ดินของตัวเองหลาย 10 แปลง และมีที่อยู่อาศัยคนละพื้นที่กับที่ดินพิพาท การครอบครองที่ดินเขตปฏิรูปโดยทราบว่าไม่มีคุณสมบัติและไม่มีเอกสารสิทธิ์ ส.ส.ย่อมไม่ควรปฏิบัติ
การกระทำของผู้คัดค้านเสื่อมเสียเกียรติ และมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ข้อ 17 ที่ต้องรักษาชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ของ ส.ส. และไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ แม้ต่อมาจะส่งคืนที่ดินทั้งหมด ก็ไม่ทำให้การฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นไม่เกิดขึ้นได้
ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่านำรายได้จากการทำเกษตรในที่ดินเขตปฏิรูป มาเลี้ยงดูบิดา ซึ่งเป็นหลักศีลธรรมนั้น เห็นว่าการเลี้ยงดูบิดาต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และคนทั่วไปก็มีหน้าที่ไม่ต่างจากผู้คัดค้าน
เว้นตำแหน่งการเมืองตลอดชีพ
จึงพิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป
มีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิ์รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 87 และมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ข้อ 3 ข้อ 17 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ทั้งนี้ คำพิพากษาให้มีผลทันที และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีจริยธรรมร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ถือเป็นคดีแรกที่ศาลมีการอ่านคำตัดสินออกมา โดยขณะนี้มีคำร้องเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมืองอยู่หลายคดี โดยเฉพาะคดีส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
4 ส.ส.หนาวคดีจริยธรรม
สำหรับคดีของนักการเมืองที่ถูก ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา ในฐานความผิดจริยธรรมร้ายแรงนั้น ปัจจุบันมีคดีของ ส.ส. 4 คน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ศาลฎีกา
ประกอบไปด้วย คดีของ 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คือ 1.นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 2.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 3.นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้นัดตรวจหลักฐานในคดีที่ป.ป.ช. ฟ้อง 3 ส.ส.ภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายฉลอง นายภูมิศิษฏ์ และ นางนาที ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกันในการโหวตลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563
หลังศาลให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นบัญชีพยาน ไม่น้อยกว่า 14 วัน พร้อมทั้งยื่นคำแถลงแนวทางการไต่สวนและคำโต้แย้งไม่น้อย 7 วัน จากการพิจารณานัดที่แล้ว 12 พ.ย. 2564
การตรวจหลักฐานมอบให้เลขานุการองค์คณะและเลขาธิการศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมือง ดำเนินการแทนร่วมกับคู่ความ และรายงานให้องค์คณะทราบ
แต่คดีนี้ ทนายของทั้ง 3 คน ได้ยื่นคำร้องขอให้งดการพิจารณาคดีนี้ไปก่อน เพื่อรอฟังผลคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกานักการเมือง) ซึ่งคดีนี้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องทั้ง 3 คน ในความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ มาตรา 157 และตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.
ศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ และคดีอาญาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน และพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งอาจนำสืบถึงข้อเท็จจริงเดียวกัน เพื่อให้ความยุติธรรมดำเนินไปได้ด้วยดี
จึงเห็นสมควรให้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไป จนกว่าจะพิพากษาหรือชี้ขาดข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าว ในชั้นนี้ยังไม่สมควรให้จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยให้เลื่อนไปนัดพร้อม เพื่อฟังผลความคืบหน้าในคดีอาญาในวันที่ 21 ธ.ค.2565 เวลา 14.00 น.
สำหรับคดีใน “ศาลฎีกานักการเมือง” ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง 3 ส.ส.นี้ ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การวันที่ 19 พ.ค.2565 นี้ เวลา 09.30 น.
ถัดไปเป็นคดีของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) น.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. ปัจจุบันศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ถูกป.ป.ช.ชี้มูลกรณีฝากบัตรให้ผู้อื่นเสียบแทนระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10
โดยป.ป.ช.ชี้มูลในความผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ส่งให้อัยการส่งฟ้องต่อศาลฎีกานักการเมือง และยังมีความผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย ซึ่งส่งให้ศาลฎีกาโดยตรง
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 ศาลฎีกานัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีครั้งแรกไปแล้ว
จากเคสของ “ปารีณา” มาถึงคดีจริยธรรมของ 3 ส.ส.ภูมิใจไทย และ 1 ส.ส.พลังประชารัฐ เห็นแล้วบอกได้คำเดียวว่า หนาว!!!