การตัดสินใจของ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำหนังสือ ลงเลขที่ รฟ 1/1911/ 2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 เพื่อขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ราว 5,083 ไร่ ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าออกโฉนดในพื้นที่ของรฟท. กระทำไม่ได้ ได้รับเสียงชื่นชมของประชาชนต่อผู้บริหารองค์กรของรัฐเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันการมีหนังสือแจ้งไปยัง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่กำกับดูแล รฟท. ของผู้ว่าการรถไฟฯในเรื่องที่ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ก็ถือเป็นเป็นการทำงานอย่างมืออาชีพของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ยึดโยงกับสายการบังคับบัญชาที่ดี
ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นประเด็นใหญ่ ที่สังคมให้ความสนใจ...!
หนึ่ง ปัญหาการบุกรุกที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่นั้น เป็นปัญหาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และเป็นปัญหากระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่บิดเบี้ยวของประเทศไทย ที่ทำให้เกิด 2 มาตรฐานในสังคม กฎหมายบัคับใช้กับคนจน แต่คนมีอำนาจ คนรวยกลับหลุดรอดร่างแหทุกคราวไป
สอง ประเด็นนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.มีหนังสือที่ ปช.0018//1085 ถึงผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ซึ่งอดีตนักการเมืองชื่อดังของประเทศ เป็นผู้ขอออกโฉนด และโฉนดเลขที่ 8564 ภรรยานักการเมืองชื่อดังถือกรรมสิทธิ์ ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟ
หนังสือดังกล่าวออกตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ไต่สวนข้อเทจ็จริงแล้วมีมติว่า “การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 มาตรา 99”
สาม ประเด็นนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ผู้ว่าการรถไฟ ดําเนินการบังคับคดีและเรียกค่าเสียหายกับผู้บุกรุก ที่ดินของการรถไฟ ตามคำพพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และ 8027/2561 เพราะทําให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหาย
แต่จนบัดป่านนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากผู้ที่รับผิดชอบของการรถไฟฯ
สี่ ที่ดินบนิเวรณดักล่าวนั้น ปรากฏว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแจ้งที่อยู่ต่อรัฐสภาเมื่อเข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองว่า ตัวเองอยู่บ้านเลขที่ 30/2 หมู่ที่ 15 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ
อันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8564 ที่บ้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวแจ้งนั้นเป็น 1 ในพื้นที่ซึ่ง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อเทจ็จริงแล้วมีมติว่า “การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 99”
ถ้าประชนทั่วไปครอบครองที่ดินแบบเดียวกันถือว่าทำผิด ผู้ที่เป็นนักการเมืองและครอบครัวที่ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวก็ย่อมต้องผิดด้วย เพราะกฎหมายบังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียวกัน
ประเด็นต่อมาที่ป้องปากซุบซิบกันในบรรดานักการเมืองและคณะกรรมการ ปปช.คือ ถ้า คุณปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ปัจจุบันถูกศาลตัดสินให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในคดีบุกรุกและครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.ราวพันไร่ มีความผิดตามรัฐธรรมนูญว่าจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ครอบครองที่ดินและสร้างบ้านอยู่อาศัยก็ต้องผิดด้วยเช่นเดียวกัน
เพื่อให้เกิความกระจ่าง ผมไปค้นข้อมูลกรณีคุณปารีณาพบว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า น.ส.ปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงร้องคดีไปที่ศาลฎีกา กรณี น.ส.ปารีณา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรง ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ ใน จ.ราชบุรี ตามที่ตำรวจ บก.ปทส. แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้
25 มี.ค.2564 ศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหา พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และดำเนินการครบถ้วนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 จึงมีคำสั่งให้รับคำร้อง และมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ส่วนการพิจารณาคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
กรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ครอบครองโฉนดที่ดินของการรถไฟฯที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งตอนนี้รับรู้กันแล้วว่า เป็นบ้านของ คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมนั้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีมีพฤติการณ์และหลักฐานที่เชื่อว่ากระทำการทุจริตในการครอบครองที่ดิน
รัฐธรรมนูญ มาตรา16 ระบุว่า “คณะรัฐมนตรี จะต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
มาตรา 235 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า “เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หรือกระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกําหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้”
มาตรา 235 วรรคสี่ ระบุว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และ ไม่มีสิทธิดํารงตําแหน่งทางการเมืองใดๆ”
การเพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 5,053 ไร่ ที่ จ.บุรีรัมย์ จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับชะตากรรมของคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคุณศักดิ์สยามเข้ามาเป็น ส.ส.และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคม มาตั้งแต่ปี 2562 โน่น
อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คุณศักดิ์สยาม ยังมีเกราะกำบังที่ดีในฐานะรัฐมนตรี ในการรับหนังสือจากผู้ว่าการรถไฟฯ และมีการลงนามรับทราบ รายงานผลการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ลงเลขที่ คค 0202/กม 689 เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 ที่ฝ่ายกฎหมายกระทรวงคมนาคมทำบันทึกข้อความด่วนที่สุด ให้รฟท.ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และให้รายงานผลความคืบหน้าให้ทราบเป็นประจำทุกเดือนด้วย
การทำหน้าที่รัฐมนตรี กับการครอบครองที่ดินของรัฐ จะออกหัวออกก้อย คอยติดตามกันครับ