สรส.ยื่นนายกฯ ตรวจสอบประมูลประปา“อีอีซี”ส่อขัดมติครม.-รัฐธรรมนูญ

23 เม.ย. 2565 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 17:26 น.

สรส. ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรสมาชิก ยื่นนายกฯ -รมช.มหาดไทย ตรวจสอบการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี ส่อขัดมติครม.-รัฐธรรมนูญ

นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผ่านรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี นายมงคลชัย สมอุดร เป็นผู้แทนในการรับหนังสือขอเรียกร้องให้รัฐบาล เพื่อให้ทำหน้าที่ร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง 


สรส.ขอให้นายกรัฐมนตรี ติดตามและตรวจสอบการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต ให้โปร่งใส เป็นธรรม  โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินการตามภารกิจ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

นอกจากนี้ ได้เข้าพบและยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  นายทรงศักดิ์ ทองศรี ผ่านผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุกรี มะเต๊ะ โดยขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการประปาภูมิภาค (กปภ.)  ติดตามและตรวจสอบการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต ให้โปร่งใสเป็นธรรม

                             สรส.ยื่นนายกฯ ตรวจสอบประมูลประปา“อีอีซี”ส่อขัดมติครม.-รัฐธรรมนูญ

สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า การประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต นั้น สรส. ได้เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ขอให้เร่งหาแนวทางจัดการเรื่องการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต  เนื่องจากภารกิจการบริหารจัดการน้ำของประเทศนั้นควรจะต้องเป็นสิทธิและหน้าที่ของรัฐโดย กปภ. 

และในการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กรมธนารักษ์ ได้เปิดประมูลก่อนที่สัญญาจะหมดในปี 2566 และมีผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท อีสท์วอเตอร์  ซึ่งกปภ.เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กรมธนารักษ์ ได้ยกเลิกการประมูล และเปิดประมูลครั้งใหม่ 

 

สำหรับ บริษัทที่ชนะการประมูลใหม่ เป็น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงเงื่อนงำ ที่เป็นเหตุให้ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ฟ้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว 


แม้ว่าศาลปกครอง จะยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว บริษัท อีสท์วอเตอร์  แต่ในสาระสำคัญในรายละเอียด ความเป็นเหตุเป็นผลในการยกเลิกการประมูลว่าจะมีความถูกต้องหรือไม่เพียงใดนั้นศาลปกครอง จะพิจารณาในโอกาสต่อไป 

 

ดังนั้น สรส. เห็นว่า หากกรมธนารักษ์ ลงนามในสัญญาผู้ชนะการประมูลรายใหม่ แต่ในอนาคตหากผลการพิจารณาของศาลปกครอง ออกมาในลักษณะที่แตกต่างออกไป อาจเกิดความเสียหายต่อรัฐ จากการฟ้องเรียกค่าเสียหายของบริษัทเอกชนได้ ดังที่สังคมรับทราบกันว่าเกิด “ค่าโง่” จนท้ายที่สุด กปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอาจต้องรับผิดชอบ

 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2535 รัฐบาล มีนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก (Eastern Sea Board) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุน และการพัฒนาเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และเพื่อให้มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี มาตรฐานของระบบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ครม. จึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2535 และวันที่ 12 ก.ย.2535 เห็นชอบให้ กปภ.จัดตั้ง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ “บริษัท อีสท์วอเตอร์” ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

 

ในช่วงเริ่มต้นให้กปภ. ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อเป็นองค์กรหลักองค์กรเดียวในการรับผิดชอบการพัฒนาและดูแลระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออก ครอบคุลม ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา 


แม้ว่าครม. เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2539 และวันที่ 6 ส.ค.2539  มีมติเห็นชอบแนวทางการระดมทุนและการเพิ่มทุนบริษัทฯ วงเงิน 1,700 ล้านบาท โดยให้กปภ. และหน่วยงานของรัฐถือหุ้นในบริษัทฯ ได้ไม่เกินร้อยละ 49 และได้เปลี่ยนสถานภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2539 


จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า มีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ กปภ. รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ 40.20% และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมถือหุ้นในบริษัทฯ 4.57% 

 

นอกจากนี้  รัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้ ฯลฯ 


จากเงื่อนไข เหตุผลดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มอบให้รัฐดำเนินการโดย กปภ. ตั้งแต่ต้น แล้วเปลี่ยนไปให้เอกชนรายอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับ กปภ. แต่อย่างใดเข้าไปบริหารจัดการแทนด้วยรูปแบบวิธีการประมูล เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของมติ ครม. 2535   และขัดต่อรัฐธรรมนูญ


สรส.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ทำหน้าที่ร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ติดตามและตรวจสอบการประมูลระบบท่อส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และกรณีตามสัญญาโครงการ ปทุมธานี-รังสิต ให้โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และควรจะต้องให้เป็นสิทธิของรัฐโดย กปภ.