ล้อมคอกปมฉาว "คดีปริญญ์" ประชาธิปัตย์ เพิ่มกฎเหล็ก

29 เม.ย. 2565 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 18:50 น.

ประชาธิปัตย์ ลุยแก้ข้อบังคับพรรค ล้อมคอก ซ้ำรอย คดีปริญญ์ เพิ่มกฎเหล็ก "ต้องไม่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดทางเพศ" ยัน พรรคไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม

29 เมษายน 2565 ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติ และเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากกรณีอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดคดีทางเพศซึ่งพรรคเสียใจและขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งและเพื่อเป็นการยืนยันว่า พรรคไม่นิ่งเฉยต่อเรื่องดังกล่าว รวมถึงเน้นย้ำในจุดยืนของพรรคเรื่องการต่อต้านการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่ กำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค และลักษณะต้องห้าม รวมทั้งเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจริยธรรมทางเพศของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรค และมีมาตรการในการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีที่เป็นข่าวด้วย

สำหรับคณะกรรมการ 9 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย บุคคลภายในพรรคและผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทด้านการต่อต้านการคุกคามและละเมิดทางเพศ ได้ทำงานร่วมกัน และได้ข้อสรุปแล้วซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการบริหารและที่ประชุมใหญ่พรรค เพื่อปรับแก้ข้อบังคับพรรคต่อไป สำหรับรายละเอียดดังกล่าว ประกอบด้วย

 

1.เพิ่มข้อ 19 คุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค ในข้อบังคับพรรค คือ "ต้องไม่ถูกคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดทางเพศรวมถึงการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว เด็ก สตรี รวมทั้งการค้ามนุษย์ และการค้าประเวณี และให้เพิ่มถ้อยคำดังกล่าว ในใบสมัครสมาชิกพรรค ลักษณะต้องห้าม โดยเพิ่มเป็นข้อ 22

 

2.เพิ่มหมวดในข้อบังคับพรรค "แนวปฏิบัติว่าด้วยการต่อต้านการละเมิดและหรือคุกคามทางเพศ ซึ่งครอบคลุม ความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัว และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ" โดยให้มีแนวปฏิบัติ ดังนี้  

2.1 มีกลไกรับทราบข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดและหรือคุกคามทางเพศของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและกรรมการบริหารพรรค

 

2.2 มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีมีการละเมิดหรือการคุกคามทางเพศตามแนวทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ การตรวจสอบ ต้องได้รับการยินยอมจากผู้เสียหาย ดำเนินการเป็นความลับ และเคารพข้อมูลส่วนบุคคลของทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา 

 

2.3 หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ให้ดำเนินการตามข้อบังคับพรรค

 

3.พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า จะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จะไม่ปกป้องหรือช่วยเหลือคนผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรม

 

4.ให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมายและด้านสังคมอื่นๆให้แก่ผู้เสียหาย

 

5.จัดการอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรในพรรคและสมาชิกพรรคในเรื่องการต่อต้านการละเมิดและหรือการคุกคามทางเพศ

 

6.จัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการต่อต้านการละเมิดและหรือการคุกคามทางเพศ และการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม

 

พร้อมกันนี้ได้กล่าวขอบคุณกรรมการจากภายนอกทั้ง 4 ท่าน กล่าวคือ นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง (ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม) นางเรืองรวี พิชัยกุล (ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา) นางสาวธนวดี ท่าจีน (ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง) และนางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย (กรรมการสิทธิคนพิการสหประชาชาติ) ที่ได้ทุ่มเทความตั้งใจให้กับภารกิจนี้

 

ทุกท่านมองเห็นประโยชน์ตรงกันว่า ปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น มันเป็นปัญหาสังคม ซึ่งต้องช่วยกันแก้ไข อย่าให้เพียงเรื่องนี้เป็นประเด็นเฉพาะกิจ ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการชุดนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองอื่นด้วย พรรคการเมืองต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศ

 

ทั้งนี้ สำหรับผู้เสียหายจากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ พรรคพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมายและด้านสังคมอื่นๆ ซึ่งสามารถพูดคุยกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ และขอยืนยันว่าเราจะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและปกป้องคนผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ดร.รัชดา กล่าวทิ้งท้าย