พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาฐกถาพิเศษ ในงาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม โดยได้เล่าถึงการทำงานในช่วง 7 ปีก่อน ตั้งแต่เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งในปี 2562
โดยนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า หลังจากมีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นกรอบเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาประเทศ และพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้
1.สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยการต่อยอด-ยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร
พร้อมต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การป้องกันประเทศ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
2.โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ การลงทุนและแหล่งบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ พัฒนาเมืองแห่งนวัตกรรม หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็น “ซิลิคอนวัลเลย์” ของเมืองไทย / และ “เมืองใหม่อัจฉริยะด้วยนวัตกรรม” หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ปัจจุบันการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ
3.เตรียมความพร้อมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุนจริง ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ การลงทุนของภาครัฐ ในช่วงปี 2558 – 2562 ถึง 7.9% ต่อปี ดังนี้
4.โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ครอบคลุมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเตอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที (Mbps) ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก โครงการเน็ตหมู่บ้าน 74,987 หมู่บ้าน ทั้งประเทศ โครงการสายเคเบิ้ลใต้น้ำ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งเป้าการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ พัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” เพื่อสนับสนุนการชำระเงินและโอนเงินแบบทันที พัฒนาระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการติดต่อขอรับบริการผ่านช่องทางออนไลน์
5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเตรียมน้ำต้นทุน สำหรับภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้ง EEC รวมทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับทุกครัวเรือน การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ บริเวณถนนรัชดาภิเษก
ผลลัพธ์ที่ได้รับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เพิ่มการกักเก็บน้ำรวม 1,452 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 124 ล้าน ลบ.ม. ลดพื้นที่ประสบภัยแล้งลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36,944 หมู่บ้าน ในปี 2556 และในปี 2564/65 ไม่มีประกาศภัยแล้ง
6.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษา ทั้งระดับอาชีวศึกษา เน้นเรียนจบมีงานทำ และระดับอุดมศึกษา มีการปฏิรูปการอุดมศึกษาครั้งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับตั้งแต่ปี 2562 ได้วางแนวทางส่งเสริมการศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต
7.การแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงเสริมในการขับเคลื่อน EEC และเสริมทัพการศึกษายุคใหม่ ผลิตคนยุคใหม่ เตรียมพร้อมสำหรับโลกปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี
ความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น เช่น การผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับล่าสุดในการเดินทางไปประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งมีเวทีการหารือความร่วมมือ ทั้งแบบหุภาคีและทวิภาคี ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในเรื่องต่าง ๆ
8.การแก้ปัญหาวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติโลก โดยในช่วงเริ่มการระบาดทั่วโลกจำเป็นต้องปิดประเทศ รวมถึงประเทศไทย และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคอง และกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ได้คำนึงถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศ
8.การรองรับผลกระทบของวิกฤตจากความขัดแย้ง ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 โดยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น วิกฤติพลังงาน สินค้าขาดแคลน ความยากจน เพื่อให้ประชาชนอยู่รอด อย่างพอเพียง รัฐบาลได้ดูแลประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ 10 มาตรการ
ล่าสุด รัฐบาลก็ได้เสนอแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีความ ไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ โดยรัฐบาลจะติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กับประเทศชาติ และประชาชน ในระยะต่อไป
9.การแก้ไขหนี้ครัวเรือน รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ และหนี้ผู้ประกอบการ จะได้รับการผ่อนปรนลดภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
10.การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจน ในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัว มีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน ให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ
“ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยก ทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โครงการ EEC และการศึกษาด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว