นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขอบคุณนางซาร่าห์ เบียนคิ รองผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา กล่าวชื่นชมนโยบายการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานของรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินการได้อย่างดีเยี่ยม และขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินการจนเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์
นายธนกร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานชาวต่างชาติที่มีข้อจำกัดด้านการควบคุมโรคทั้งจากประเทศต้นทางและถิ่นที่กำลังพำนักอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อแรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้รับดำเนินการตามดำรินายกรัฐมนตรี โดยได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ช่วยดูแลแรงงานอย่างต่อเนื่องเทียบเท่าแรงงานไทยทุกประการ
อาทิ การตรวจ รักษา และกระจายวัคซีนให้กับผู้ประกันตนเพื่อป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ทำงาน ดำเนินโครงการ Factory Sandbox ตามหลักการเศรษฐศาสตร์ควบคู่สาธารณสุข เพื่อตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล และบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการ
รวมทั้ง พยายามผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
โดยการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกับรองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ชื่นชมนโยบายการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานของรัฐบาลไทย ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินการได้อย่างดีเยี่ยม
พร้อมเชื่อมั่นการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทย ว่าจะเป็นผลดีให้ไทยและสหรัฐฯ มีโอกาสได้กระชับความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
นายธนกร กล่าวว่า นายกฯ ขอบคุณกระทรวงแรงงานที่ขานรับนโยบาย รองรับมาตรการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี
โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานไทยและกระทรวงแรงงานเมียนมา ได้มีการหารือในการผสานความร่วมมือด้านแรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการจ้างงานระหว่างสองประเทศอย่างเหมาะสมในช่วงการแพร่รระบาดของโรคโควิด-19
ได้ร่วมกันปรับมาตรการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องตามสถานการณ์ปัจจุบัน เน้นการบริหารครอบคลุมทั้งกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่กำลังพำนักอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มที่กำลังดำเนินการเพื่อขอเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ขององค์กรต่างๆ และการนำเข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนระหว่างสองประเทศตามมาตรา 64
เบื้องต้นรัฐบาลไทยมีมติเห็นชอบปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa) จาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่แรงงานต่างชาติที่ประสงค์เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย
“นายกฯ ชื่นชมการบูรณาการการทำงานเพื่อผลักดันและพัฒนานโยบายด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ ทั้งกับแรงงานในประเทศและแรงงานต่างชาติให้ได้รับสวัสดิการที่ดีและมีความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีมองว่าผู้มาทำงานในประเทศไทยถือว่ามีส่วนช่วยในด้านเศรษกิจและการพัฒนาของไทย และเชื่อมั่นในหน่วยงานของไทยที่ดำเนินงานได้อย่างมีศักยภาพ ดูแลแรงงานไทย และต่างชาติได้อย่างดี ทั่วถึง สามารถรองรับมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”