ดึงทุกอาชีพอิสระเข้ากฎหมาย “แรงงานนอกระบบ” พร้อมกดปุ่มเยียวยาทีเดียว

20 พ.ค. 2565 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2565 | 18:02 น.

เปิดกฎหมายแรงงานนอกระบบ “สุชาติ ชมกลิ่น” รับกฎหมายผ่านครม. แล้ว พร้อมดึงทุกอาชีพอิสระเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย มีหลักประกันในการประกอบอาชีพ พร้อมกดปุ่มเยียวยาทีเดียว หากรัฐมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในงาน Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม ว่า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบแล้ว เพื่อดึงแรงงานทุกอาชีพเข้ามาในระบบ

 

ทั้งนี้ในรูปแบบการดำเนินการ กระทรวงแรงงานจะผลักดันอาชีพอิสระทุกอาชีพ เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ เพื่อเป็นช่องทาง และสร้างหลักประคันในชีวิตให้คนทำอาชีพอิสระ มีเงินกองทุนช่วยเหลือผ่านกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือแรงงานให้มีแหล่งเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

 

“สิ่งที่สำคัญและเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องทำให้สำเร็จคือ การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเรื่องของแรงงานเป็นสิ่งที่ทุกคนจะมองว่าแรงงานในระบบพึ่งพาพึ่งพิงสถาบันการเงินพอได้ เพราะมีหลักฐานในการค้ำประกัน แต่แรงงานนอกระบบเป้นแรงงานที่มีความเหลื่อมล้ำ และเข้าถึงเงินกู้ในระบบไม่ได้ ทั้งอาชีพรับจ้าง วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ หรือธุรกิจอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของกระทรวงแรงงาน” นายสุชาติ กล่าว

อย่างไรก็ตามในการผลักดันกฎหมายเพื่อผู้ใช้แรงงานนอกระบบออกมาครั้งนี้ ยังช่วยให้เกิดความสะดวกในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต และรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเยียวยา หากแรงงานทุกอาชีพอยู่ภายในกฎหมายฉบับนี้ การช่วยเหลือจะถูกส่งต่อไปเพียงแค่กดปุ่มเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด ตรงเป้าหมาย และตรงเป้าภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว

 

นายสุชาติ กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ของกระทรวงแรงงาน หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการต่าง ๆ เข้าไปประคับประคองไม่ให้เกิดการเลิกจ้างแรงงาน ในปี 2564 พบว่า ตลาดการจ้างงานกลับมาเป็นบวก 1.7 แสนราย ขณะที่ในปี 2565 ช่วงไตรมาสแรก ตลาดการจ้างงานบวก 3.3 แสนรายแล้ว

“สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทุกกระทรวงได้เข้าไปช่วยกันทำงานเชิงรุก จึงอยากให้ผู้ใช้แรงงานมีความเชื่อมั่นรัฐบาล" นายสุชาติ ระบุ

 

ล่าสุดได้ไปพบนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ซึ่งเป็นประธานบริษัทต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC ก็มาขอบคุณรัฐบาลว่าด้วยมาตรการรัฐที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Factory Sandbox ช่วยทำให้มีผลประกอบการที่เป็นบวก เช่น กลุ่มยานยนต์ได้ประกาศโบนัสให้พนักงาน 7-8 เท่า ซึ่งเกิดจากนโยบายการรักษาการจ้างงานของรัฐบาล และมีอีกบริษัทที่ลงทุน 22 ประเทศ มีประเทศไทยประเทศเดียวที่รอดและมีกำไร ทำให้ในปีนี้จะลงทุนเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท