นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีจำงบประมาณ 2566 ในวันที่ 31 พ.ค.-1มิ.ย.ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว และพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.งบฯทั้งหมด ทั้งเรื่อศักยภาพ ความรู้ความสามารถของผู้ที่จะบริหารงบประมาณคือ ตัวรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี(ครม.)
รวมทั้งสิ่งที่เราพบเจอในการจัดงบประมาณปีนี้ค่อนข้างมีความสุ่มเสี่ยงมาก โดยเฉพาะปีนี้เป็นปีที่วิกฤต ทั้งโควิด สงคราม เศรษฐกิจ ความขัดแย้งต่างๆ แต่วิธีการจัดงบประมาณไม่ตอบสนองในการแก้ปัญหาให้กับประเทศ และสิ่งที่เราเจอเสมือนเป็นทางตัน สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า จะเป็นพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.หนี้สาธารนะ
ตัวเลขงบประมาณฯที่ตั้งไว้เหมือนกับเป็นตัวเลขที่อุปโลกน์ เช่นการจัดเก็บรายได้ ที่ตั้งไว้ 2.49 ล้านล้านบาท ถามว่า ความสามารถที่จะเก็บได้ทำไมต้องเพิ่มมาอีก 0.9 ล้านล้านบาท เพราะ2.4 ล้านล้านบาท ยังเป็นไปไม่ได้แล้ว
ดังนั้นการตั้งการจัดเก็บรายได้ไว้ 2.49 ล้านล้านบาท ส่งผลต่ออะไร ซึ่งฝ่ายค้านกำลังจะไปดูว่า มีผลต่อการที่จะวางกรอบของเงินกู้หรือไม่ เพราะถ้าตั้งรายได้ไม่ถึงการจะกู้ชดเชยงบประมาณขาดดุล ตัวเลขก็จะต่ำ เพดานกู้จะแคบ
ตรงนี้เราจะเห็นว่า เหมือนเป็นทางตัน แต่ที่สำคัญนำไปใช้ไม่ได้ก่อประโยชน์ ผิดที่ผิดทาง ผิดวัตถุประสงค์ และสุ่มเสี่ยงส่อไปในทางเอื้อประโยชน์และแสวงหาประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากใกล้ช่วงเลือกตั้ง จึงเห็นว่า การจัดทำงบประมาณนี้มีลักษณะกระจุกตัวมากกว่า
“พรรคฝ่ายค้านยังไม่มีมติว่า จะโหวตอย่างไร แต่ทุกฝ่ายหารือร่วมกันแล้ว และแต่ละพรรคเห็นตรงกันว่า ไม่สามารถรับร่างพ.ร.บ.งบฯฉบับนี้ได้ การไม่รับคือ ต้องโหวตลงมติไม่รับ เพราะการงดออกเสียงเป็นวิธีการลงคะแนนในภาวะงบประมาณปกติ ประเทศปกติ ซึ่งการงดออกเสียงคือ การแสดงมารยาท
ดังนั้นการจะผ่านหรือไม่ผ่านขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก เรางดออกเสียง เรายังมีข้อเสนอและคำแนะนำที่จะไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการฯ แต่งบฯปี 66 เราดูแล้ว แม้จะปรับแก้ก็แก้อะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปงดออกเสียง จึงต้องบอกกันตรงๆว่า เราโหวตไม่รับร่างพ.ร.บ.งบฯฉบับนี้”
เมื่อถามว่า เมื่อมีมติไม่รับร่างแล้วแต่เสียงข้างมากโหวตผ่าน ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการฯหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่เคยตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการฯ เพราะกระบวนการพิจารณาในสภาฯเมื่อเสียงข้างมากเห็นชอบ เราก็ต้องยอมรับ เราไม่ดื้อดึงถึงขั้นไม่ร่วมพิจารณาเลย เพราะจะยิ่งทำให้เกิดผลเสีย
ซึ่งตามกลไกฝ่ายค้านก็ต้องส่งคนเข้าไปเป็นกรรมาธิการฯ แม้จะเห็นว่าปรับแก้อะไรไม่ได้ แต่ฝ่ายค้านก็ยังมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบและทักท้วงในสิ่งที่เห็นว่าไม่ชอบมาพากลได้ แล้วนำข้อมูลมาเปิดเผยในการพิจารณาวาระสอง ถ้าไม่ชอบมาพากลก็มีโอกาสที่จะพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่
เมื่อถามว่า ยังยืนยันว่าหากงบฯปี66ไม่ผ่าน ความรับผิดชอบคือนายกฯต้องลาออกและยุบสภาใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า มีสองทางคือ หากงบฯไม่ผ่านนายกฯก็ต้องลาออกหรือยุบสภเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
เพราะถ้าไม่มีงบฯไปบริหารประเทศแล้วจะบริหารได้อย่างไร จึงเป็นข้อขัดแย้งที่รุนแรงเป็นอันดับสองรองจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากงบฯไมผ่านนายกฯก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้โอกาสนี้ว่ายุบสภามีประโยชน์หรือไม่ หรือลาออกประโยชน์ดีกว่าหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของนายกฯ