นายกฯ ร่ายยาวงบประมาณ 66 จำเป็นต้องขาดดุล ดันเศรษฐกิจฟื้น

31 พ.ค. 2565 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2565 | 12:38 น.

นายกฯ “บิ๊กตู่” ร่ายยาวชี้แจงงบประมาณ 2566 ยาวชั่วโมงกว่า ระบุจำเป็นต้องตั้งประมาณขาดดุล หนุนเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง กางแผนจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวในช่วง 3.2 – 4.2%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร วันนี้โดยใช้เวลายาวกว่า 1 ชั่วโมงเศษ ว่า ตามร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นจำนวนไม่เกิน 3.18 ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.2 – 4.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี 

 

ขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัส รวมทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.5 – 1.5%

 

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างงบประมาณ 2566

 

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค 

 

โดยประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิ  2,614,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม124,100 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล 2.49 ล้านล้านบาท

 

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ 2566 จึงเป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3.18 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

 

ส่วนฐานะการคลัง พบว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 มีจำนวน 9,951,962 ล้านบาท คิดเป็น 60.6% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70%  โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวน 9,478,592 ล้านบาท 

 

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างงบประมาณ 2566

 

โดยฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 398,830 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

 

ขณะที่ฐานะและนโยบายการเงินการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมายังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565  มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินกรอบเป้าหมายจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นมาก และจะปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566 จากราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นในปี 2565

 

รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่จะบรรเทาลง ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย สำหรับด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ 0.50% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เมษายน 2565 มีจำนวน 233,926 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

 

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างงบประมาณ 2566

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นโยบายการจัดทำงบประมาณ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2566 จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ประเทศได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อม 
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • รายจ่ายประจำ 2,396,942 ล้านบาท  คิดเป็น 75.26% 
  • รายจ่ายลงทุน 695,077 ล้านบาท คิดเป็น 21.82% 
  • รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.14%

 

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย

  • งบประมาณรายจ่ายงบกลาง 590,470 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 218,477 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายบุคลากร 772,119 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985 ล้านบาท
  • งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้านบาท

 

นอกจากนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 402,518 ล้านบาท คิดเป็น 12.6% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ ดังนี้

  • รายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 95,900 ล้านบาท  
  • การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618 ล้านบาท

 

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงร่างงบประมาณ 2566