นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พรบ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณ 3,185,000 ล้านบาท ว่า ครั้งนี้คือการอภิปรายงบประมาณครั้งสุดท้ายของการจัดสรรงบประมาณ
โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งงบประมาณคือภาพสะท้อนว่า ประเทศของเราให้ความสำคัญกับอะไร ทุ่มทรัพยากรลงทุนไปกับเรื่องไหน และจากการลงทุนในวันนี้ อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
“พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณอย่างมาก เรานำเทคโนโลยีมาใช้แปลงเล่มงบประมาณ 2 ลัง 20,000 หน้า ให้กลายเป็นไฟล์ CSV เพื่อง่ายต่อการนำข้อมูลมาใช้ เราใช้การมีส่วนร่วมจากประชาชนมาร่วมกันวิเคราะห์ มีตั้งแต่ข้าราชการไปจนถึงน้อง ม.5 ที่มาช่วยกันถอดงบตั้งแต่ในด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี
ทำให้พบว่าประเทศไทยนี้เป็นประเทศเจ้ายศเจ้าอย่าง เป็นประเทศแห่งการประชุม หากลองใส่ keyword ลงไปในไฟล์ คำว่า ‘รับรอง’ ขึ้นมา 380 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘เบี้ยประชุม’ ขึ้นมา 940 ล้านบาท ใส่คำว่า ‘สัมมนา’ ขึ้นมา 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศไทยยังเป็นรัฐของผู้รับเหมาด้วย ซึ่งสะท้อนจากงบก่อสร้างที่มีอยู่ในงบประมาณหลายแสนล้านบาท”
นายพิธา ย้ำว่า ปีนี้คือจุดตัดสำคัญและเป็นปีแห่งการฟื้นฟู เพราะวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกกำลังคลี่คลาย เราเพิ่งมีการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครที่ทำให้ประชาชนมีความหวังผ่านการเลือกตั้ง และที่สำคัญก็คือกำลังจะครบ 8 ปีการดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจจะทำให้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
การจัดงบประมาณในปีนี้จึงมีความสำคัญมาก ต้องมียุทธศาสตร์มากกว่าปกติ ต้องสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ในการฟื้นฟูประเทศ เพราะถ้าเราจัดได้ดีประเทศก็จะไปได้ดีในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราไม่ปรับตัวอีกหลังจากทศวรรษที่สูญหายเพราะการมีผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และระบอบ คสช. แล้วยังจัดงบประมาณแบบเดิมๆ ความหายนะที่เกิดขึ้นกับประชาชนจะตามมาและลูกหลานอนาคตก็จะพัฒนาไม่ได้
ภาพรวมของงบประมาณปี 66 เป็นเหมือน "ช้างป่วยที่เต้นระบำไม่ได้"ในขณะที่เรากำลังเจอสถานการณ์รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้ที่จะมีต้นทุนมากขึ้น ในเรื่องของรายจ่าย ส่วนใหญ่ยังใช้งบไปเพื่อเป็นรายจ่ายบุคลากรที่สูงถึง 40%
อีกส่วนเป็นงบที่เอาไว้ชำระหนี้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นงบบุคลากร ใช้หนี้สาธารณะ ใช้หนี้นโยบาย หนี้ ธกส. สุดท้ายเหลือจริงๆแค่ 1 ใน 3 เพื่อเอาไว้รับมือกับปัญหาปีต่อปีและความท้าทายในอนาคต
ต่อมา เรื่องรายได้ มีปัญหาว่าเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 2-3 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเค้าโครงเศรษฐกิจของเราเน้นแต่การท่องเที่ยวในเชิงปริมาณไม่ใช่เชิงคุณภาพ และเน้นอุตสาหกรรมส่งออกรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะมีเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเก็บภาษีสูงถึง 40% และระบบภาษีแบบ 1 คนเลี้ยง 9 คน มีจำนวนผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนจากแรงงาน 40 ล้านคน
“เมื่อรายได้ผันผวนลดลงได้แต่รายจ่ายแข็งตัว ก็ต้องกู้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วต่างขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถึงธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้รัฐบาลก็ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น”
นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาของรัฐบาลนี้ที่จัดทำงบประมาณมาแล้ว 4 ปี คือ ไม่ว่าจะเจอวิกฤตแบบไหน เคยจัดอย่างไรก็จัดอย่างนั้น ปีแรกมีวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลก็จัดงบแบบนี้ ปีที่ 2 มีวิกฤตโควิดระลอกแรกรัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้
ถัดมาปีที่ 3 มีโควิดระลอกอัลฟาและเดลตา รัฐบาลจัดงบมาแบบนี้ และปีที่ 4 ประเทศต้องฟื้นฟูจากโควิดซ้อนด้วยวิกฤตเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง และวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลก็จัดงบมาแบบนี้ ไม่ได้ต่างกันเลย
“สภาปีแรกเหมือนฝนเริ่มตกปรอยๆ ปีที่สองโควิดเหมือนฝนตก ปีที่สามเป็นพายุ เจอลมฟ้าลมฝนแบบไหนก็จัดงบแบบนี้ ปีนี้ปีสุดท้ายเป็นฟ้าหลังฝน คิดว่าน้ำขึ้นต้องรีบตัก เราต้องขยายกระบวยของประเทศให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้ตักเอาผลประโยชน์จากสถานการณ์โลกในช่วงฟ้าหลังฝนให้ได้ ไม่ว่าในเรื่องการท่องเที่ยว
ผมพึ่งคุยกับ CEO ของ Agoda บอกว่าห้องพักที่สิงคโปร์เต็มหมดแล้ว ยอดจองทั่วโลกมากกว่าก่อนโควิดซะอีก แต่เราก็จัดงบเหมือนเดิม กระบวยอันเดิม ตอนวิกฤตก็แก้ไม่ได้ ตอนโอกาสมาก็คว้าโอกาสไว้ไม่ได้ ตัวอย่างที่กล่าวมานี้คือ 4 ปีของสภานี้ ที่โครงสร้างงบประมาณไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมา 8 ปีแล้ว”
พิธา ยกตัวอย่างเรื่องของ ความสร้างสรรค์ เมื่อไปดูงบกลับพบว่าไม่มีความหวังเลยที่จะสามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความฝันของคนรุ่นใหม่ได้ ที่ชัดที่สุด ไปดูกระทรวงวัฒนธรรม ที่ในอนาคตควรจะเป็นกระทรวงเกรด A ไม่ต่างจากกระทรวงการคลังหรือกระทรวงคมนาคม เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ กลับได้งบ 6,700 ล้านบาท เพื่อไปตอบโจทย์ตัวชี้วัดเรื่องการทำให้ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท
ส่วนงบที่เกี่ยวกับ Soft Power ที่พูดๆกันมีแค่ 60 ล้านบาท พอมาชำแหละรายโครงการ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการส่งเสริมภาพยนต์เพื่อสร้าง Soft Power มีงบประมาณ 40 ล้านบาท โดย KPI ของหนังมีแค่ มีคนรับชม 50,000 คน จึงเป็น KPI ที่ไร้ความหวัง เหมือนรู้ว่าสร้างหนังออกมาแล้วจะไม่มีใครดู
งบประมาณแห่งความหวังแบบพรรคก้าวไกล คือการจัดงบแบบต้องกระจายและไม่กระจุก กระจายจากบนลงล่าง เพื่อขับเคลื่อนสร้างเศรษฐกิจทั่วประเทศ เพิ่มเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจาก 3 เครื่องยนต์ คือ กรุงเทพฯ แหลมฉบัง มาบตาพุด ไปยังท้องถิ่นเพื่อให้มีเครื่องยนต์ใหม่ 7,850 เครื่องยนต์ ขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งแผ่นดินของประเทศไทย ที่จะทำให้ความเจริญกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
ประการต่อมา ต้องเปลี่ยนเป็นล่างขึ้นบน สร้างเศรษฐกิจจากฐานราก SME และแรงงาน ไม่ใช่เอื้อนายทุนใหญ่ หรือคิดแต่โครงการแบบ EEC ที่ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันอีกแล้ว เพื่อจะได้เพิ่มเครื่องยนตร์ทางเศรษฐกิจ จากเจ้าสัว 10 เครื่องยนต์ เป็นเครื่องยนตร์ SME ไทย 3 ล้านเครื่องยนตร์ เพิ่มงานให้แรงงานไทย 40 ล้านคน เพื่อให้มี 40 ล้านเครื่องยนตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
สามคือคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากข้างในออกไปข้างนอก เป็นข้างนอกเข้ามาข้างใน เริ่มจากกระดุมเม็ดแรกคือการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณเลยสักบาท เมื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก เราจะลงทุนสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Soft Power ให้เกิดขึ้นจริงได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเดิมที่มีแต่การอนุรักษ์ของเก่า ให้มีทั้งอนุรักษ์ของเก่าไปพร้อมส่งเสริมของใหม่ได้
การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาโอบรับความหวังและความฝันของคนรุ่นใหม่ๆ งบประมาณต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเงินการคลังของข้าราชการเทคโนแครต แต่เป็นเรื่องความหวังและความฝันที่พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้
“ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่สามารถรับหลักการวาระเเรกของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2566 ในวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทได้ “ พิธา กล่าว