นายกฯเร่งพัฒนาย่าน สถานีรถไฟ"อุดรฯ-หนองคาย" รับส่งออกสินค้า

02 มิ.ย. 2565 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 10:13 น.

นายกฯ เร่งพัฒนาพื้นที่ ย่านสถานีรถไฟอุดรธานี-หนองคาย รองรับการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน

 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามและกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาโลจิสติกส์ระบบรางของไทย

 

โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านสถานีรถไฟอุดรธานี-หนองคายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการส่งออกแห่งใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้การขนส่ง เกิดความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางการเกษตรของผู้ประกอบการไทยที่กำลังได้รับความนิยมในภูมิภาค

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

 

จากภาพรวมอัตราการส่งออกของไทยระหว่าง เดือนมกราคม-เมษายน 2565 ที่ผ่านมาขยายตัวสูงกว่า 13.7 เปอร์เซ็นต์ รวมมูลค่า 97,122 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม

 

การส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทยยังคงครองตลาดในจีนต่อเนื่อง อาทิ ทุเรียนหมอนทอง หมอนยางพารา ผ้าไหมไทย ข้าวมอลต์ ยางมะตอย เม็ดพลาสติก และอาหารไทยชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

 

จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน พร้อมกับที่รถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป.ลาว-จีน ได้เปิดให้ใช้บริการแล้ว จึงเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการส่งออกสินค้าผ่านรถไฟจากไทยไปจีนยิ่งขึ้น ขณะนี้การขนส่งทางรถไฟความเร็วสูงจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่คุ้มค่า
 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว

“นายกรัฐมนตรีติดตามและสนับสนุนการส่งออกสินค้าไทยออกสู่ตลาดโลก อีกทั้งมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพระบบโลจิสติกส์ไทยให้ก้าวหน้าและพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคต

 

รวมทั้งขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาและหามาตรการรองรับอย่างต่อเนื่อง และขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องตามแนวนโยบายทางการค้าและยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งอย่างเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ และให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

 

 

นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2565 นี้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือในประเด็นนี้ โดยได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ”