พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ/ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้เป็นประธานการแถลงผลงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี2564/2565 และการเตรียมรับมือฤดูฝนปี2565 ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้น หลักสี่ กทม.
สทนช.ได้นำเสนอผลงานผ่านวีดิทัศน์ และรายงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี2564/65 ซึ่งมีผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีการบริหารจัดการน้ำตามแผนงาน 9มาตรการ ได้เป็นผลดี อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนในทุกพื้นที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตามในช่วง พ.ค.ถึง กลาง ต.ค.65 จะเป็นช่วงฤดูฝนของไทย และแนวโน้มจะมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ รัฐบาลจึงได้เตรียมความพร้อมโดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการและแถลงแผนงานการรับมือฤดูฝนปี65ในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งมีหน่วยงานด้านน้ำชี้แจงแผนงานตามลำดับ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับสภาพอากาศและการคาดการณ์ปริมาณฝน ,สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) เกี่ยวกับการใช้ฝน One Map ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ,กรมทรัพยากรน้ำ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน และการเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชน และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เกี่ยวกับการสนับสนุนและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในภาพรวม ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณ สทนช.และทุกหน่วยงานที่ช่วยกันปฏิบัติงาน อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ กระทั่งบรรลุเป้าหมายร่วมกันโดยไม่มีพื้นที่ใดถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งเลย ถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านน้ำ ที่ผ่านมา
จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายที่สำคัญแก่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมรับมือฤดูฝนปี2565 โดยให้ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน อย่างเคร่งครัด รวมถึง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกพื้นที่ ทั้งผิวดิน และใต้ดิน ไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้าด้วย
และได้กำชับคณะกรรมการลุ่มน้ำฯ/อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด จะต้องจัดทำแผนบูรณาการ ระดับพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วน อย่างทั่วถึงเพื่อให้การแก้ปัญหาด้านน้ำเกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างยั่งยืน ต่อไป