ชัชชาติ ถกตำรวจจราจร เร่งแก้จุดที่รถติดซ้ำซาก

08 มิ.ย. 2565 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 10:08 น.

"ชัชชาติ" ประชุมร่วมตำรวจจราจร ตั้งเป้าแก้จุดรถติดซ้ำซากอันดับแรกที่พระราม4 พร้อมเร่งแก้รถติดช่วงโรงรียนเปิดและฝนตก

นายชัชชาติ​ สิทธิ​พันธุ์​ ผู้ว่าฯกทม.​ หารือร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.02 เรื่องการจัดการปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ​ โดยมี​พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล​ ในฐานะหัวหน้างานจราจรและ​ พล.ต.ต​ สุวิชชา จินดาคำ ผบก.จร​ ชี้แจงข้อมูล กระบวนการทำงานของตำรวจจราจร

 

ชัชชาติ บอกภายหลังการหารือว่า จะต้องเริ่มจากจุดที่เกิดปัญหาซ้ำซากก่อน เช่น พระราม4 ส่วนหนึ่งที่รถติดคือรถขึ้นทางด่วน และรถจอดส่งของ ทั้งนี้หากมีการนำเทศกิจไปเป็นผู้ช่วยตำรวจ ในการบังคับห้ามจอดรถ ก็น่าจะช่วยทำให้รถคล่องตัวขึ้นได้

 

และสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ ไปดูจุดที่เป็นปัญหา จุดที่ดูรถติดซ้ำซาก เพื่อดูว่าปัญหาคืออะไร และจะแก้อย่างไร   ปัญหาการจราจรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะช่วงโรงรียนเปิดและช่วงฝนตก และจากการหารือได้ข้อสรุป 5ข้อ คือ

นายชัชชาติ​ สิทธิ​พันธุ์​ ผู้ว่าฯกทม.​ หารือกับบก.จร.เร่งแก้ปัญหาจราจรในกทม. ​

  • 1.จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า30หน่วยงาน ทั้ง กทม. ตำรวจจราจร กระทรวงคมนาคม ขสมก.รถไฟฟ้า ทางด่วน จึงต้องมีความร่วมมือกัน

 

  •  2.จะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมแก้ปัญหาจราจร แม้เดิมจะมีอยู่แล้วแต่การปฏิบัติไม่ได้เข้มแข็งมาก โดยควรจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตัวแทนกทม. มานั่งประจำ รวมถึง ขสมก.มาร่วมด้วย เพื่อจะได้ลงไปแก้ปัญหาแต่ละจุดอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ กทม.จะรับผิดชอบทำแผนที่ในการทำจุดรถติดซ้ำซาก เพื่อนำมาวิเคราะห์ ปัญหา ว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยจะเริ่มทำทันที และเชื่อว่าหลายจุดจะสามารถบรรเทาได้ เช่นจุดที่มีรถจอดส่งของต่างๆ และจะมีการประชุมทุกเดือนเพื่อติดตามความก้าวหน้า

 

  •  3.เรื่องเทคโนโลยี เพราะกล้องวงจรปิดที่ดูจราจรมีกว่า100กล้องเท่านั้น จากกว่า50,000กล้อง และการบริหารไฟจราจรก็ใช้จราจรที่แยก ทำให้ไม่เห็นภาพรวม ดังนั้น ควรมีระบบที่เห็นภาพรวมการจราจรทั้งกรุงเทพ และบริหารจัดการไฟแบบกึ่งอัตโนมัติ แต่บางจุดก็ต้องมีคนดูแล จะทำให้ใช้ถนนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาระบบเพื่อติดตั้ง บริหารจัดการไฟทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน1ปี จากนั้นก็จะดำเนินการติดตั้งระบบ
  •   4.เรื่องความปลอดภัย ซึ่งทางกายภาพ กทม.ดำเนินการ แต่สิ่งสำคัญคือ การจำกัดวามเร็วในกทม. โดยกทม.จะนำข้อมูลความเสี่ยงจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาวิเคราะห์ว่าเส้นไหนควรจะมีความเร็วต่ำกว่า80กิโลเมตร/ชม. มาหารือกับ บช.น. เพื่อกำหนดควบคุมความเร็วในเมือง และในชุมชน ที่เป็นความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย ไม่ให้เกิดปัญหาจราจร

   

  • 5.เรื่องจักรยานยนต์ ต้องหารือว่าจะมีแนวทางอย่างไรจัดการให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เช่น บางถนนมีการทำเลนสำหรับมอไซค์ จุดจอดมอไซค์ ก่อนถึงสี่แยก ให้แยกกับรถยนต์ จึงต้องดูแลประชาชนที่ใช้รถจักรยานยนต์กลุ่มนี้ให้มากขึ้น โดยจะต้องมีการร่วมมือกันกับ บช.น. ซึ่ง เชื่อว่า หลังจากวันนี้จะเห็นการแก้ปัญหารถติดได้รับการปรับปรุงที่ดีขึ้น