"นายกฯ"ปลื้ม ไทยเจ้าภาพประชุม สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ

09 มิ.ย. 2565 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 10:04 น.

โฆษกรัฐบาล เผย "นายกฯ" ยินดีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ ครั้งที่ 58 ณ ภูเก็ต ย้ำสนับสนุนกีฬาสเก็ตน้ำแข็งไทยและอุตสาหกรรมการจัดประชุมระดับนานาชาติสู่เวทีระดับโลก

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่ายินดีที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ ครั้งที่ 58 (The 58th ISU Congress) ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 5-11 มิถุนายน 2565

 

เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสแสดงศักยภาพด้านการจัดประชุมนานาชาติ รวมทั้งผลักดันการท่องเที่ยวไทย นายกรัฐมนตรีได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมนำเสนอความเป็นไทย การเป็นเจ้าภาพที่ดี เพื่อเปิดรับโอกาสในการจัดกิจกรรมและการประชุมระดับนานาชาติในอนาคต

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

นายธนกร กล่าวว่า ภายหลังรัฐบาลได้ปรับมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โลก ประเทศไทยก็กลับมาสู่กระแสการท่องเที่ยว การกีฬา และการจัดการประชุมระหว่างประเทศ

 

ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ ครั้งที่ 58 (The 58th Congress of the International Skating Union (ISU) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-11 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์คาเดีย รีสอร์ต แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิดต้นแบบการประชุมรักษ์โลก (Green Meeting)
 

ทั้งนี้ ในระหว่างงานประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เยี่ยมชมย่านชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต และได้รับชมการแสดงทางวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงโขน และ การรำมโนราห์

 

ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage : ICH) ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ถือเป็นโอกาสนำเสนออัตลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทย

โดยการจัดกิจกรรมและการประชุมครั้งนี้ สอดคล้องยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES) ของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการท่องเที่ยวที่มีทักษะในระดับนานาชาติ (Manpower)

 

ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Economy) ให้ความสำคัญและชูจุดเด่นอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Localization) ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางการท่องเที่ยว (Ecosystems) และให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคม (Social Innovation) เพื่อสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้มีคุณภาพและพร้อมต่อการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างยั่งยืน

 

“นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกฝ่ายในการร่วมผลักดันประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ต สู่พื้นที่แห่งอุตสาหกรรมไมซ์ หรือธุรกิจด้านการจัดกิจกรรมและการประชุมระดับนานาชาติ ขอฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาศักยภาพด้านการประชุมรักษ์โลก (Green Meeting) ให้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในอนาคต

 

ตอบโจทย์กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืน และอาจเป็นโอกาสสนับสนุนให้ชาวไทยสนใจกีฬาสเก็ตน้ำแข็งมากขึ้น เพิ่มบทบาทไทยในการแข่งขันระดับโลก” นายธนกร กล่าว