นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงทางออกในการให้กลุ่มโรงกลั่นนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูงในขณะนี้ว่า
พลเอกประยุทธ์ถอดหมวกอดีตกรรมการโรงกลั่นน้ำมันหรือยัง!
เมื่อวานนี้ พลเอกประยุทธ์จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก โดยข่าวระบุด้วยว่า
“นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการกฤษฎีกากล่าวถึง กรณีกระทรวงการคลังสอบถามความเห็นเรื่องการใช้กฎหมายบังคับให้โรงกลั่นนำกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า
กระทรวงพลังงานเพิ่งส่งหนังสือสอบถามความเห็นไป คาดว่าจะใช้เวลาตอบกลับไม่นาน ไม่น่าจะถึง 1 เดือน”
ผมตั้งข้อสังเกตดังนี้
1 กระทรวงการคลังตั้งคำถามได้ถูกต้องแล้ว ส่วนการจะบังคับให้โรงกลั่นนำกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น ถ้าหากสำนักงานกฤษฎีกาตอบว่ากฎหมายปัจจุบันทำไม่ได้
กระทรวงการคลังก็จะต้องเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อเก็บภาษีลาภลอย เพราะประชาชนมอบอำนาจมหาชนของรัฐให้ไว้แก้ปัญหาแล้ว
2 การจะเก็บกำไรส่วนเกิน หรือภาษีลาภลอย นั้น กระทรวงการคลังจำเป็นต้องแสดงข้อมูลแก่ประชาชน ว่ากำไรส่วนที่เหมาะสมนั้นเป็นเท่าไหร่ เก็บภาษีเต็มที่หรือยัง เพื่อให้โปร่งใสว่าประชาชนได้รับความเป็นธรรมครบถ้วนหรือไม่
3 สภาวะการขาดแคลนกำลังกลั่นน้ำมันในประเทศสหรัฐและยุโรป มีแต่จะหนักขึ้น โรงกลั่นในตลาดสากลจึงจะสามารถบวกกำไรค่าการกลั่นสูงขึ้นไปได้อีกในอนาคต และจะยังทำได้อีกเป็นเวลานาน เพราะตะวันตกไม่สนับสนุนการสร้างโรงกลั่นขึ้นใหม่
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงต้องดูแลให้มีการเก็บกำไรลาภลอย ให้ครอบคลุมตลอดระยะเวลา มิใช่เพียงชั่วไม่กี่เดือน ประเดี๋ยวประด๋าว
4 กรณีที่รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่าโรงกลั่นในไทยกำไรแค่ 1-2 บาทต่อลิตร นั้น เนื่องจากนายสุพัฒนพงษ์ นายอาคม รัฐมนตรีคลัง รวมทั้งพลเอกประยุทธ์เอง เคยดำรงตำแหน่งในกลุ่มบริษัทพลังงาน คำพูดของคณะรัฐมนตรีจึงไม่ทำให้ประชาชนเชื่อถือ
(นายอาคมเคยเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ค่าตอบแทนปี 2555 เป็นเงิน 2,695,000.00 บาท เป็นต้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในหลายโรงกลั่น)
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงควรจัดให้มีผู้สอบบัญชีระดับสากล เพื่อทำการตรวจสอบ และประกาศตัวเลขที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน
อนึ่ง ในวันนี้ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เสนอแนวทางบริหารจัดการเรื่องพลังงานที่เหมาะสมหลายเรื่อง ยกเว้น :-
ข้อ 2 ปรับราคาหน้าโรงกลั่นในไทย ให้เท่ากับราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ไม่ต้องมีค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าระเหย เรื่องนี้เป็นการเอาเปรียบประชาชนมาเป็นสิบปีแล้ว และต้องแก้ไข
วิธีแก้ไขอย่างนี้ เปิดช่องให้โรงกลั่นไทยได้กำไรลาภลอย โดยคนไทยเป็นผู้ควักกระเป๋า จึงใช้ไม่ได้
ปัญหาเกิดจากประเทศตะวันตกไม่ลงทุนสร้างโรงกลั่นใหม่มานานแล้ว เพราะมาตรการโลกร้อน ทำให้ตลาดทุนและระบบธนาคารตะวันตกไม่สนับสนุนเงินทุน
แหล่งที่มีกำลังการกลั่นเกินการใช้ในประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย จึงฉวยโอกาสบวกกำไรค่าการกลั่นแบบเต็มเหยียด ทำให้ได้กำไรลาภลอย
ปัญหานี้หนักขึ้น จากสงครามยูเครน เมื่อยุโรปเปลี่ยนจากน้ำมันรัสเซียไปเป็นแหล่งอื่น เครื่องจักรของบางโรงกลั่นต้องใช้เวลาแก้ไขเพื่อรองรับน้ำมันแหล่งใหม่
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐและยุโรปจึงสูงขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่ปีก่อน และปีนี้ก็สูงขึ้นไปอีก ทุกโรงกลั่นจึงฉวยโอกาสบวกกำไรค่าการกลั่นเข้าไปอย่างหนัก
ดังนั้น ข้อเสนอแก้ไข ให้อ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ ถึงแม้ถ้าหากจะไม่มีค่าขนส่ง ค่าประกันภัย หรือค่าระเหย ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปิดประตูโรงกลั่นไทย ที่จะบวกกำไรค่าการกลั่นแบบลาภลอย
ทั้งนี้ รัฐต้องไม่ยินยอมให้โรงกลั่นในประเทศไทยบวกกำไรค่าการกลั่นแบบลาภลอย เพราะไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักขึ้น หรือการใช้สมองมากขึ้น แต่ควักเอาจากประเป๋าของคนไทยเต็มๆ