“ทนง พิทยะ”ลั่นสู้กันยาวแน่ หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลอาญาคดีสินบนโรลส์รอยซ์

18 ก.ค. 2565 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2565 | 17:09 น.

“ทนง พิทยะ”ยังไม่รู้เรื่องถูกป.ป.ช.ชี้มูลอาญา“คดีสินบนโรลส์รอยซ์” ลั่นไม่เข้าใจเป็นแค่ประธานบอร์ด ทำตามมติบอร์ด แต่ถ้าโดนชี้มูลแล้ว ก็ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป คงยาวแน่นอน

วันนี้(18 ก.ค.65) นายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำจัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจ ถึงกรณีถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอาญาใน “คดีคดีสินบนโรลส์รอยซ์” ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยแก้ข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช.แล้ว 2 ครั้ง ยืนยันว่าตนในฐานะประธานบอร์ด ดำเนินการตามมติของบอร์ดมาโดยตลอด แต่จำรายละเอียดไม่ได้มากนัก เพราะเรื่องผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว

“ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกันว่า ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว ผมไม่เข้าใจว่าเป็นแค่ประธานบอร์ด ทำตามมติบอร์ด แต่ถ้าโดนชี้มูลแล้ว ก็ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป คงยาวแน่นอน" นายทนง กล่าว

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวโดยแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการพิจารณาสำนวนไต่สวน กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ฯ ผู้นำเข้าเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 รวมความเสียหายประมาณ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นไทยราว 254 ล้านบาท โดยมีการกล่าวหากลุ่มอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย จำนวน 10 ราย

ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 2 เสียง ชี้มูลความผิดแก่ นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทและนายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายการบินไทย โดยทั้ง 2 ราย มีความผิดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502  จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ 

 

มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 


มาตรา 11 ระบุผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


อย่างไรก็ดีมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขาดอายุความในคดีนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงเหลือแค่ความผิดตาม มาตรา 8 คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท 


ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลือ เช่น นายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ฝ่ายบริหารงานนโยบาย และรองประธานอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย มีความผิดทางวินัยร้ายแรง  ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ๆ มีทั้งผิดวินัยไม่ร้ายแรง และบางรายพ้นข้อกล่าวหา