วันที่ 18 ก.ค.ที่ห้องประชุม 109 อาคารสำนักปลัด ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามดำริของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามความคืบหน้าการทำงานเพื่อประชาชนหลังจากได้รับการร้องเรียนขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขช่วยเหลือ
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนจำนวน 3 ราย ได้แก่ นางศศิกานต์ จ่อยลา ราษฎร ต.โนนสวรรค์ ขอความอนุเคราะห์จัดสรรเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากมีฐานะยากจน และต้องเลี้ยงดูบุตรและหลานซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและออทิสติก
นายเอกชัย ชาญประโคน ราษฎร จ.บุรีรัมย์ ขอความเป็นธรรมกรณีการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรม ก.อุตสาหกรรม ซึ่งผู้ร้องป่วยเป็นผู้พิการแขนขา ซีกขวาอ่อนแรง
และ นายเคน โยธาจันทร์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้เดือนละ 500 บาทและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ได้ขึ้นทะเบียนผู้พิการแล้วแต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพทั้งยังต้องเลี้ยงดูภรรยา ลูกหลาน
ล่าสุด นายพีระพันธุ์ และทีมงานลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงสอบถามถึงอุปสรรคการทำงานต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้หาแนวทางลดขั้นตอนเพื่อการแก้ปัญหารวดเร็วขึ้น และให้การช่วยเหลือตามข้อร้องเรียนดังกล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับรายงานข้อมูลเรื่องร้องเรียน-ร้องทุกข์ของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องขอความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่าย และการอำนวยความสะดวกของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ที่ยังไม่ได้ข้อยุติที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อให้ พม.รับไปพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วน โดยหนึ่งในการร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวได้รับการประสานแก้ไขให้ลุล่วงไปแล้วจากการลงพื้นที่ของนายพีระพันธุ์ และทีมงานที่ จ.ร้อยเอ็ดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากประชุมคณะกรรมการในครั้งแรก ตนได้ลงพื้นที่ทันทีเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาให้รวดเร็วที่สุด เพราะไม่อยากให้เป็นแค่การนั่งประชุมในห้องเท่านั้น ซึ่งพบว่ามีปัญหาข้อร้องเรียนจำนวนมาก ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า พม.ได้แก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว แต่การทำงานยังคงขาดการประสานงานทำให้บางเคสยังแก้ไขไม่จบกระบวนการ ตอนนี้จึงสั่งการให้เร่งบูรณาการทำงานร่วมกัน ในส่วนของกรณีร้องเรียนเรื่องการถูกเลิกจ้าง ก็ได้ประสานการเคหะแห่งชาติเพื่อให้ช่วยเหลือหางานให้ผู้ร้องไปก่อน ทำให้ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 4 เคส
นายพีระพันธุ์ กล่าวในที่ประชุมว่า เห็นว่าควรตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบการทำงานอย่างชัดเจนและคล่องตัวมากขึ้น ประกอบด้วย คณะทำงานรวบรวมจัดกลุ่มเรื่องร้องทุกข์ที่ได้มีการร้องเรียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2560 และยังค้างคาอยู่ ให้เป็นไปตามพื้นที่ภูมิภาคในการประสานงานหน่วยงานจังหวัดดำเนินการต่อไป
รวมถึงคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์และตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อรับเรื่องใหม่ที่ประชาชนร้องเรียนในปัจจุบัน ทีมงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ทีมงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทำงานด้านการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงิน และทีมงานที่จะเข้ามาดูงานเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเฉพาะกิจที่ไม่เข้ากับกลุ่มใด
“ทั้งนี้คณะอนุกรรมการต่างๆ จะได้ลงไปทำงานในพื้นที่ได้เลย เพื่อรายงานมายังคณะกรรมการชุดใหญ่เกี่ยวกับรายละเอียด และปัญหาในการทำงานต่างๆ ในกรณีที่มีปัญหาหรือจะขอให้ประสานไปยังหน่วยงานอื่นๆ ก็จะได้มีการขอข้อคิดเห็นในที่ประชุม เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว” นายพีระพันธุ์ กล่าว