21 กรกฎาคม 2565 การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นวันที่สอง ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธาน
เริ่มจาก นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายโจมตีการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า บริหารงานผิดพลาดส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รายได้ประชาชนหลังช่วงโควิดหดหายไปโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากเฉลี่ยปีละ 40 ล้านคน เหลือเพียง 4 ล้านคนต่อปี
จากนั้นนายมงคลกิตติ์ ได้อุ้มพระพุทธรูปขึ้นมาพร้อมระบุว่า ไม่ได้มาคนเดียว แต่มาพร้อมกับพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ขอบิณฑบาต พล.อ.ประยุทธ์ให้ปลดปล่อยประเทศไทยและประชาชนด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
จากนั้นเป็นคิวของ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ต้องอภิปรายแต่พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ไม่ได้อยู่ฟังการอภิปรายนายขจิตร จึงได้หารือกับนายชวน ประธานรัฐสภาในฐานะประธานการประชุม โดยระบุว่า ผู้ถูกอภิปรายไม่จำเป็นต้องอยู่ในรัฐสภาเพื่อฟังการอภิปรายและแนะนำว่า เป็นสิทธิของนายขจิต จะอภิปรายต่อหรือไม่ก็ได้
นายขจิตก็ได้ใช้สิทธิอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผิดพลาดล้มเหลว โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้ประเทศเสียหาย พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการเสียค่าโง่คลองด่าน ที่ ครม.มีมติให้จ่ายค่าชดเชยให้กับจำเลยในคดีอาญา ขณะที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา
กระทั่ง ศาลฎีกาพิพากษาให้ กรมควบคุมมลพิษ ชนะคดีดังกล่าว การมีมติของ ครม.ครั้งนั้นจึงถือว่าเป็นความผิดพลาดทำให้ต้องเสียเงินกว่า 4,800 ล้านบาทเศษ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถตามเงินคืนมาได้ ในขณะที่รัฐเสียหายรวมกว่า 40,000 ล้านบาท
พล.อ.ประยุทธ์ กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อแผ่นดิน ทั้งยังกระทำผิด ม.46 ป.วิ อาญา กรณีมีมติจ่ายเงิน 4,000 กว่าล้านบาทให้เอกชนเป็นค่าโง่คลองด่าน รวมถึงละเว้นไม่ดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.และ ครม.ที่มีมติสั่งจ่ายเงินผิดกฎหมาย กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีค่าโง่ของด่านไปแล้ว ละเว้นไม่ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงหาผู้มารับผิดชอบทางแพ่งที่ได้จ่ายเงิน จำนวน 4,000 ล้านบาท ทั้งยังกระทำผิดมาตรฐานจริธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ ม. 219 ด้วย
ต่อด้วย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับบริหารงานงบประมาณของ สตช.ที่พบว่า ปัจจุบันมีคนตกงานจำนวนมากต้องแข่งขันกันแต่กลับมีคนกลุ่มหนึ่งใช้เส้นสายเพื่อให้ได้เข้าทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า พบว่า นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เส้นสายให้ลูกชายและลูกสาวได้บรรจุเป็นตำรวจ ซึ่งไม่ตรงกับความรู้ความสามารถ
ทำเช่นนี้แล้วจะปฏิรูปตำรวจได้อย่างไร คนใกล้ชิด ทำสิ่งไม่ดีไม่ควร เมื่อการแข่งขันไม่เป็นธรรม ทำให้คนไม่มีเส้นสายเสียกำลังใจ สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ลุแก่อำนาจ สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด
จากนั้น นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.พรรคเพื่อชาติ อภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ติดกับดักสัปทานนายทุน ทำนโยบายเอื้อเจ้าสัว อาทิ นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ที่ใช้เครื่องจักรกลซึ่งกลุ่มนายทุนได้รับผลประโยชน์ก่อน รวมถึงการแก้ปัญหาประมงที่มีนโยบายรับซื้อเรือประมงแต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการไปรับซื้อเรือประมง
ด้านนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของกองทัพที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หลายโครงการไม่มีความโปร่งใสประชาชนตรวจสอบไม่ได้ อาทิ โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดลพบุรี มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท กรณีปรับปรุงสร้างอนุสาวรีย์ ร.9 ที่พบว่า มีผู้รับเหมาเข้าไปปรับพื้นที่ล่วงหน้าก่อน ก่อนจะมีการประกาศชื่อผู้ชนะประมูล
ขณะที่ โครงการก่อสร้างบ้านพักรับรอง ผบ.ทบ ของกองทัพเรือ วงเงิน 56 ล้านบาท มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการในพื้นที่ก่อน เปิดซองประมูลประกวดราคา และประกาศชื่อบริษัทผู้ชนะการประมูล สะท้อนให้เห็นว่า มีการล็อกสเปคผู้รับเหมา และฮั้วประมูลหรือไม่
นางอมรรัตน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดย บริษัท ไอยเรศ จำกัด ซึ่งชนะการประมูลโครงการกองทัพ เป็นบริษัทในเครือเดียวกับ บริษัท เบญจมาศ จำกัด ซึ่งมีชื่อ ที่อยู่ และกรรมการชุดเดียวกัน นางอมรรัตน์ ระบุว่า งานที่ได้รับจากสังกัดกระทรวงกลาโหมของทั้งสองบริษัทที่ผ่านมามีมูลค่ารวมกันสูงถึง 30,000 ล้านบาท