พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงฝ่ายค้าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงการบริการเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลทำเศรษฐกิจพังพินาศ ล้มเหลว ไม่สามารถสร้างความกินดีอยู่ เศรษฐกิจรั้งท้ายภูมิภาค อยากให้ฟังบ้างว่า ประเทศไทยไม่ได้ป่วยรั้งท้ายในอาเซียน
เห็นได้จากตั้งเลข GDP ของไทยเมื่อเทียบกับอาเซียนมีขนาดใหญ่เป็นที่ 2 และรายได้ต่อหัวอยู่อันดับที่ 4 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ส่วนแนวโน้มทั้งปีตามการประเมินของ IMF คาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะโต 3.3% สอดคล้องกับข้อมูลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ขณะที่อัตราการว่างงานก็ยังต่ำสุดในอาเซียน เป็นการบริหารเศรษฐกิจที่สมดุล และขอยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนในศรีลังกาแน่นอน ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่สูง และมีหนี้ต่างประเทศต่ำ สามารถรองรับความผันผวนได้ พร้อมทั้งหาทางดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศ
“ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความยากลำบากในวันนี้ จะมีหนี้สินหรืออะไรก็ตาม แต่ก้ต้องเตรียมแผนงานความพร้อมเอาไว้ในอนาคตให้ได้ผลตอบแทนในระยะต่อไป บางคนบอกว่าระฐบาลกู้เงินอย่างเดียว แต่ตอนนี้ก็เตรียมการในการชำระหนี้ไว้ด้วยเช่นกัน”
ส่วนกรณีที่บอกว่ากิจการต่าง ๆ ปิดไปมาก รัฐบาลก็พยายามหาทางช่วยเหลือ และพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ โดยในช่วงที่มีปัญหาก็ได้มอบหมายกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแล ซึ่งหลายอย่างได้พยายามทำให้เร็วที่สุด แต่ไม่เคยพูดว่า เก่งที่สุด เพียงแต่อยากบอกให้ฟังว่ารัฐบาลพยายามทำทุกอย่าง สุดแต่ใครจะเชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในข้อกล่าวหาว่าทำภาคการท่องเที่ยวเสียหายจากการปิดประเทศไม่มีแบบแผน ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามสถานการณ์โควิด-19 และตอนนี้ก็พยายามฟื้นการท่องเที่ยว โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาให้ได้ 7 – 10 ล้านคน ส่วนการจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ยังไม่มีการเรียกเก็บ โดยจะเลื่อนไปยังไม่มีกำหนด และตอนนี้ยังได้ให้นโยบายตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งก็กำลังหารือกันอยู่
ด้านการลงทุน ผ่านมา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2565 เป็นช่วงที่รัฐบาลลักดันโครงการลงทุนภาครัฐมากที่สุดถึง 179 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.66 ล้านล้านบาท เป็นเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นไม่ได้เพราะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และในช่วง 8 ปีมานี้ ยังเป็นช่วงที่ชำระหนี้มากที่สุดกว่า 2.6 ล้านล้านบาท มากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องวิกฤตพลังงาน ของแพง ค่าครองชีพ เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งปัญหาโควิด สงคราม ผลพวงนโยบายการเงินการคลังของประเทศใหญ่ ๆ ทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทุกเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ข้อแก้ตัว แต่เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ผันผวน และเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้ติดตามเรื่องนี้ ส่วนจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ ขึ้นแล้วมีผลกระทบอย่างไร ธปท.จะพิจารณาอีกครั้ง
ส่วนกรณีการระบาดของโควิด ที่ผ่านมารัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านบาท และได้ใช้เงินกู้ 8.54 แสนล้านบาท ไปแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดกว่า 45 ล้านราย เงินก้อนนี้ให้ตรงเข้าบัญชีผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งเกิดผลดีพอสมควร และประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติอีกครั้ง และได้รับยกย่องเป็นต้นแบบในการรับมือโควิดอันดับ 3 ของโลก
ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในช่วงเกิดโควิด ยอมรับว่า หลายประเทศก็มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะต้องกู้เงินมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ไทยเองก็ยังรักษาระดับหนี้สาธารณะไว้ในระดับต่ำ แม้ขยายกรอบมาที่ 70% แต่ก็วางแผนการใช้นี้เอาไว้
ขณะเดียวกันในกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต กระทบกับราคาพลังงาน ปุ๋ย อาหาร เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน โดยรัฐบาลได้พยายามหาทางดูแล แม้ว่าตอนนี้ยังทำไม่มากนัก แต่ก็ได้ออกมาตรการเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อน ลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น มาตรการการดูแลประชาชนในด้านพลังงาน ตั้งแต่ปี 2563-2565 ใช้เงินไปแล้ว 2 แสนล้านบาท
“ตอนนี้เรามีเงินน้อยลง และเกิดเงินเฟ้อ แต่พอมาพูดให้มาร่วมมือกันก็มาว่าอีกว่าไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหา ซึ่งจริง ๆ แล้วนี้คือการแก้กรอบใหญ่ ส่วนกรอบเล็กก็ต้องช่วยกันแก้ และไม่อาจจะแนะนำอะไรได้ เพราะแนะนำไปก็ผิดหมด จึงอยากให้ฟังว่าเหตุผลคืออะไร และเชื่อว่าไม่มีรัฐบาลไหนที่ผ่านมาเจอปัญหาเหมือนรัฐบาลที่เจอในวันนี้ แม้จะไม่อาจบอกว่าทำได้ดีที่สุด แต่ก็ทำเต็มที่มาโดยตลอด เพื่อประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้”
ส่วนการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาแก้วิกฤตเศรษฐกิจ และพลังงานนั้น ยอมรับว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ คล้ายกับครม.เศรษฐกิจ ร่วมทำงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และทำงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องไปคุยหาข้อสรุปมาเสนอ โดยมีคณะอนุกรรมการอีกชุดที่ระดับกระทรวงเชื่อมต่อสถมาคมต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนเป็นช่วง 3 เดือน 6 เดือน เพื่อรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ได้มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ เป็นแนวหน้าไปคุยกับรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อเปิดประตูประเทศ จากนั้นให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปสานต่อ เชื่อมโยงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตต่อไป
โดยสรุปแล้ว ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ มีความสามารถในการต่อสู้กับวิกฤตได้ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินเฟ้อรุนแรง โดยในระยะเวลาที่เหลือ 250 วันของรัฐบาล ยืนยันว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้ออกจากวิกฤตดังกล่าวโดยเร็วที่สุด