“กนก”ฉะศธ.เกียร์ว่างหมกปัญหางานเอกสารล้น จี้เร่งคืนครูให้นักเรียน

24 ก.ค. 2565 | 10:24 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2565 | 17:36 น.

“กนก”ฉะศธ.เกียร์ว่าง หมกปัญหางานเอกสารล้น จนครูลาออก-อาหารกลางวันเด็ก 21 บาทต่อหัวไม่สอดคล้องค่าครองชีพปัจจุบัน จี้เร่งสานต่อนโยบายคืนครูให้นักเรียน จ้างบุคลากรธุรการ ลดงานเอกสารให้ครู จัดงบอาหารให้สอดรับกับค่าครองชีพ

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาครูลาออกเพราะงานเอกสารมาก และค่าอาหารกลางวัน 21 บาทไม่พอ ซึ่งมีการแชร์กันมากในโลกออนไลน์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า  ล้วนเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รู้และเข้าใจปัญหาดี แต่ไม่ต้องการแก้ไขเพราะต้องทำงานยาก จึงปล่อยปัญหาให้ผ่านไป 


การลาออกของครูเพราะงานเอกสารมาก เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ปัญหาใต้น้ำที่ทำให้ครูทนไม่ได้จนต้องลาออกอีกมาก โดยเฉพะกรณีครูต้องรับภาระงานพิเศษ เช่น การต้องพานักเรียนออกจากขั้นเรียนไปทำกิจกรรมพิเศษนอกชั้นเรียนตามนโยบายของกระทรวงและจังหวัด 


 

เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมตามเทศกาลทางประเพณีและวัฒนธรรม การแข่งขันหลากหลายประเภทที่มีการประกวด จนถึงการต้อนรับผู้ใหญ่ เป็นต้น กิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรเหล่านี้ บีบให้ครูที่ตั้งใจจะเป็นครูไม่สามารถทำงานได้ ฟางเส้นสุดท้ายของครูมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การถูกตั้งกรรมการสอบสวนและลงโทษทั้งที่ตัวเองไม่ได้กระทำผิด

 

ส่วนค่าอาหารกลางวันหัวละ 21 บาท เป็นมาตรฐานที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่กับโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนที่มีนักเรียน 1,000 คน ได้รับค่าอาหารกลางวันรวม 21,000 บาทต่อวัน แต่โรงเรียนที่มีนักเรียน 50 คน จะมีค่าอาหารกลางวัน 1,050 บาทต่อวัน ด้วยเม็ดเงินที่ต่างกันมากเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กไม่มีพื้นที่ทางการเงินที่จะบริหารจัดการได้

สุดท้ายต้องบีบให้ครูโรงเรียนขนาดเล็กหาทางเอาตัวรอด ต้องจัดให้นักเรียนปลูกผัดสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เอาไข่ เพื่อใช้ประกอบอาหารกลางวัน 


นี่คือความเหลื่อมล้ำในราคาอาหารกลางวัน 21 บาทโรงเรียนขนาดใหญ่กับขนาดเล็ก เมื่อนำค่าครองชีพในปัจจุบันมาวิเคราะห์ด้วย จะเห็นว่าในวันที่ราคาหมูกิโลกรัมละ120 บาท กับปัจจุบันราคา 250 บาท ทำให้เนื้อหมูหายไปจากจานอาหารของนักเรียนทุกคนครึ่งหนึ่ง สภาพค่าครองชีพสูงเช่นนี้ ปริมาณและคุณภาพอาหารกลางวันของนักเรียนทุกคนจะลดลงอย่างมาก


นี่คือปัญหาจากการกำหนดนโยบายเสื้อโหลของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของโรงเรียนแต่ละแห่ง และไม่สามารถปรับนโยบายได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพที่สูงขึ้น


“สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เปิดปัญหาสมองไหลคือ ดำเนินการตามโครงการคืนครูให้นักเรียน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เคยทำไว้อย่างจริงจัง จ้างบุคลากรมาช่วยแบ่งเบางานธุรการและงานอื่น ๆ ของครู ลดภาระเกี่ยวกับการรายงาน ประเมินต่าง ๆ การทำวิทยฐานะเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพื่อคืนครูให้นักเรียน ส่วนเรื่องอาหารกลางวันต้องเลิกตัดเสื้อโหล แต่จัดสรรตามสภาพความเป็นจริง เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับโรงเรียนทุกขนาด” ศ.ดร.กนก กล่าว