จากกรณีที่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ถูกพาดพิงถึงระหว่างการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ว่า 30 ปีที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ ให้ผลตอบแทนต่อรัฐไม่ถึง 600 ล้านบาทนั้น
วันนี้(1 ส.ค.65) นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ ชี้แจงว่า ตามสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2536 ได้ระบุถึงการจ่ายค่าตอบแทน หรือ ค่าเช่าท่อ ให้กับกรมธนารักษ์ ไว้ที่ปีละ 2 ล้านบาท หรือปีใดหากมียอดขายน้ำดิบเกินกว่า 200 ล้านบาทต่อปี ให้จ่ายเพิ่ม 1% ของยอดขายน้ำดิบ
ก่อนที่ในปี 2558 บริษัทฯ ได้มีการปรับอัตราชั่วคราวจาก 3% เป็น 7% โดยตั้งแต่ปี 2537-2564 บริษัทฯได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรมกรมธนารักษ์ ทั้งสิ้น 588.33 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน อีสท์ วอเตอร์ ยังมีการจัดสรรกำไรในแต่ละปีโดยได้จัดสรรเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภาครัฐซึ่งถือหุ้นอยู่ในอีสท์วอเตอร์ 45% เป็นเงินรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้ถือหุ้นภาครัฐ 3,060 ล้านบาท ลงทุนแทนภาครัฐ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 22,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมปันผลแก่ผู้ถือหุ้นทั่วไปหลังจากจัดสรรปันผลแล้ว จะสะสมเป็นกำไรสะสมในงบการเงิน ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวน 6,800 ล้านบาท
นายเชิดชาย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำดิบนั้น เป็นการกำหนดที่สะท้อนต้นทุนและได้กำไรที่เหมาะสมต่อความสามารถในการนำไปใช้ในการลงทุนได้ต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีแรก อัตราค่าน้ำดิบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในปีที่ 11-20 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 8.5 บาทต่อ ลบ.ม. และในปีที่ 21-30 อัตราค่าน้ำดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 11 บาทต่อ ลบ.ม.
ดังนั้นในส่วนของการเก็บค่าน้ำดิบชัดเจนว่าราคาสูงสุดเฉลี่ยไม่เกิน 11 บาทต่อ ลบ.ม. ไม่ใช่ ลบ.ม.ละ 12 บาทกว่า และสูงสุด ลบ.ม.ละ 26 บาท อย่างที่มีการกล่าวอ้างกันในสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
นายเชิดชาย กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจ่ายผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐ บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยจ่ายค่าเช่าบริหารท่อในอัตราที่เป็นไปตามสัญญา ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด หรือกรณีเส้นท่อที่ไม่มีสัญญาก็ได้จ่ายในอัตราชั่วคราว ตามที่ตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย
การชำระค่าเช่าบริหารท่อในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2537-2564 เป็นไปตามสัญญาและตามเงื่อนไขของกรมธนารักษ์ โดยรายได้ที่นำมาคำนวณผลตอบแทนนั้นถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ เป็นไปตามงบการเงินซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้บัญชีที่น่าเชื่อถือ
ส่วนกรณีที่ระบุว่า อีสท์ วอเตอร์ ไม่ได้อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ในการลงพื้นที่รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ในระหว่างวันที่ 21-22 เม.ย.65 นั้น นายเชิดชาย ชี้แจงว่า ขอยืนยันว่า อีสท์ วอเตอร์ ไม่ได้ขัดขวางการเข้าพื้นที่แต่อย่างใด แต่เนื่องจากบริษัทได้รับหนังสือจากกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.65 เวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิดในการมอบหมายพนักงานของบริษัทฯที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการเตรียมข้อมูลและสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่ แก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบริษัทต้องปฎิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตามแนวทางของราชการในพื้นที่ปฎิบัติการอย่างเคร่งครัด
“อีสท์ วอเตอร์ จึงขอให้กรมธนารักษ์ เลื่อนวันที่จะลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ออกไปก่อน หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย บริษัทฯก็จะจัดเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับสถานที่ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯยินดีให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์”
นายเชิดชาย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ยกตัวอย่างกรณีที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ขอข้อมูลเอกสารการสืบสวนและส่งเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจพื้นที่ เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนว่า บริษัทฯอาจมีการลักลอบเชื่อมต่อท่อส่งน้ำดิบ ระหว่างสายหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 1) เข้ากับท่อส่งน้ำดิบ สายหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อาจมีการเสียภาษีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
โดยขอให้บริษัทฯ จัดส่งเจ้าหน้าที่และส่งมอบหลักฐานไปให้ เรื่องนี้บริษัทฯ ยินดีให้ความแก่เจ้าหน้าที่ โดยได้มอบผู้แทนเข้าให้ข้อมูลแล้ว รวมทั้งส่งเอกสารสรุปข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการจ่ายน้ำ ปริมาณน้ำที่ได้จำหน่าย และรายได้จากการจำหน่ายน้ำดิบจากท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 1 และท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน และเอกสารทางการเงินของบริษัทย้อนหลัง 5 ปีให้แก่ทางดีเอสไอแล้ว
การกล่าวหา อีสท์ วอเตอร์ ในเรื่องต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจให้บริการจัดหาส่งน้ำให้พื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสูบจ่ายน้ำให้ลูกค้าในแนวท่อ ที่บริษัทฯ บริหารอยู่ทั้งหมด ดำเนินการในลักษณะองค์รวม Water Grid
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า ทั้งในแง่ของเสถียรภาพการสูบจ่าย และปริมาณน้ำที่ต้องเพียงพอแก่ลูกค้าตลอดทั้งปี เป็นพันธกิจที่สอดคล้องกับมติ ครม. ที่จัดตั้งบริษัทฯขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก เน้นการบริหารงานเพื่อสาธารณประโยชน์ของพื้นที่เป็นสำคัญ
รวมถึงการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำให้กับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันที โดยบูรณาการเชื่อมโยงเส้นท่อทั้งของกรมธนารักษ์ที่มีอยู่เดิม และที่บริษัทฯสร้างใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับผู้ใช้น้ำเป็นลูกค้าของบริษัทฯ เป็นหลัก