ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา วันนี้(2 ส.ค.65) นางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” และจำเลยรวม 8 คน ได้มาฟังคำพิพากษาศาล พร้อมทนายความ “คดีม็อบ 11 สิงหาไล่ล่าทรราช” หลังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง “ป้าเป้า” พร้อมพวก รวม 8 คน ซึ่งนอกจากนางวรวรรณ แล้ว ยังประกอบด้วย นายนพดล สินบุญเชิญ นายธนา กำพูล นายเอกณัฏฐ์ สมบัติ ยิ่งวัฒนา นายวีรวัฒน์ คำภีร์ทูล (หนีประกัน) นายกฤษณะ มินา นายปภังกร โพธิ์เจริญ และนายกัณฐกะ พรมโต
ทั้งนี้อัยการโจทก์ ระบุฟ้องความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้งหมดกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน ร่วมจัดกิจกรรม “11 สิงหาไล่ล่าทรราช” เพื่อกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุม รถยนต์ รถยนต์พร้อมเครื่องขยายเสียง รถจักรยานยนต์ ที่บริเวณถนนราชวิถี วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
มีการลงมาเดินบนถนนทำกิจกรรมเผาหุ่นฟาง กล่าวปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลเรื่องจัดหาวัคซีนป้องกันการระบาดโควิด-19 และโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการใช้มาตรการดำเนินการจับกุมและสลายการชุมนุมฯ ซึ่งการรวมกลุ่มลักษณะปิดกั้นการสัญจรไปมา และมีการขว้างปาวัตถุสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนระหว่างที่ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้นตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัว
ทั้งนี้ ศาลอาญาพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันชุมนุม หรือทำกิจกรรมของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีความผิดตามประกาศการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 9 และ 30
ส่วนข้อหาความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธฯ, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยมีหรือใช้อาวุธและโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ให้ยกฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท
แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน อีกทั้งประกอบอาชีพและมีภาระต้องเลี้ยงดูแลครอบครัว บางคนกำลังศึกษาอยู่ จึงอยากให้เอาเป็นบทเรียนและทบทวนตัวเอง โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติ 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ จำนวน 8 ครั้ง ภายในระยะเวลาที่กำหนดและทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง