วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 19/2564คดีที่ อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (ตำแหน่งขณะก่อนถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่)
โดยโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 เวลากลางวัน จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 7 (บางซื่อ – ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ลงชื่อเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25ปีที่ 1ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … โดยไม่ได้ลาประชุมแต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม
จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติของจำเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรของจำเลยอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นโดยความยินยอมของจำเลย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรของจำเลยกดปุ่มแสดงตนและลงมติแทนจำเลยในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … วาระที่ 1
โดยมีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการออกเสียงลงคะแนนแทนกัน อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นเหตุให้สภาผู้แทนราษฎรปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย รวมทั้งกระบวนการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติได้รับความเสียหาย
ขอให้ลงโทษตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 172 จำเลยให้การปฏิเสธ
องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ระบบไต่สวนซึ่งศาลเป็นผู้ค้นหาความจริงไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ตามมาตรา 6วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560
เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีภาระพิสูจน์ถึงการกระทำความผิดและเจตนาของจำเลยดังที่จำเลยแถลงปิดคดี แต่เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่จะไต่สวนค้นหาความจริงแล้วใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงว่าความจริงรับฟังได้หรือไม่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
และแถลงปิดคดีของจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ได้ร่วมประชุมและลงมติร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. … ไม่มีความผิดพลาดหรือบกพร่อง ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรขณะที่มีการลงมติ แต่มีการนำบัตรอิเล็กทรอกนิกส์ของจำเลยไปใช้ลงมติ
ประกอบกับระบบลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีความผิดพลาดหรือบกพร่อง และช่องเสียบบัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของส.ส.เป็นช่องทางให้สามารถนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของ ส.ส.รายอื่นมาลงมติได้ พฤติการณ์ดังกล่าว
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของส.ส.รายอื่น โดยจำเลยยินยอมให้ส.ส.รายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแสดงตนและลงมติแทนจำเลย
เมื่อการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของ ส.ส.เป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ส.ส.ซึ่งเข้าประชุมและอยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีการออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น การกระทําใดเพื่อให้มีการออกเสียงลงคะแนนแทนกันจึงเป็นการขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 120 วรรคสาม
ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน และไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551ข้อ 72 วรรคสาม ที่กำหนดว่า การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันไม่ได้ อันเป็นนการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต มีผลทําให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย
การกระทำของจำเลยจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นองค์กรที่ทําหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว แม้จะไม่ทำให้กระบวนการตรากฎหมายเสียไปการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
และการที่จำเลย ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ แต่กลับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยกับ ส.ส.รายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยไปอยู่ในความครอบครองของส.ส.รายอื่น โดยจำเลยยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยแสดงตนและลงมติแทนจำเลย เป็นผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
เป็นกรณีที่จำเลยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ถือได้ว่าเป็นปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย
อย่างไรก็ตามมูลเหตุที่ทำให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้เกิดจากจำเลยต้องไปเป็นวิทยากรในงานเสวนาแบ่งปันความรู้บทบาทแม่ยุคดิจิทัลที่ห้องประชุมชั้น 5 สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ ตามโครงการกิจกรรมเวทีสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับแม่และเด็กในชุมชน
หัวข้อเรื่องการเลี้ยงดูลูกในยุคสมัยดิจิทัล ที่จัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10พ.ศ. … ซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญ ประกอบกับร่าง พ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10พ.ศ. … ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรปรานีแก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ เห็นควรลงโทษปรับจำเลยในสถานหนัก
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 172จำคุก 1ปี และปรับ 2 เเสนบาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา56หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปี