ประชาชนคนไทยผู้มีสามัญสำนึก ที่อ่านเอกสารการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 เมื่อวันศุกร์ ที่ 7 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 220 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 ในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมมนูญ มาตรา 158 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมหารือกัน 19 คน หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ คือ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งยืนยันว่า การนับอายุนายกรัฐมนตรีต้องนับย้อนไปตั้งแต่เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ หากครบ 8 ปี ก็เป็นอันจบกัน!!!
เพราะในเอกสารการประชุมบันทึกความเห็น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ว่า “ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับสามารถนับรวมระยะเวลา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เข้ากับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560”
ความเห็นของ ประธานคณะกรรมการ ระบุว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม”
...การบัญญัติในลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับก็สามารถนับระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี”
ขณะที่ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ให้ความเห็นตามบันทึกการประชุมว่า หากนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ เมื่อประเทศไทยยังคงมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ควรนับระยะเวลาที่ตำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย
ทุกคนก็คิดว่าน่าจะจบกันที่ตรงนี้ เพราะนี่คือการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณากันหลัรัฐธรรมนูญบังคับใช้มาร่วม 1 ปี แต่ใครที่คิดว่าเรื่อง การนับอายุการดำรงตำแหน่นายกรัฐมนตรีจะจบลงแล้ว ตามเจตนารมย์ที่พูดคุยกันในที่ประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคงต้องคิดใหม่กันแล้วละครับ....
คิดใหม่.... เพราะ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาให้สัมภาษณ์ “หมาแก่” คุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2565 กลับพลิกตาลปัตรแบบ 180 องศา
นายสุพจน์ ชี้แจงว่า เท่าที่จำได้เป็นบันทึกการประชุมดังกล่าว เป็นบันทึกซึ่งเปิดเผย ไม่ใช่บันทึกลับ เปิดเผยตามห้องสมุดทั่วประเทศ รวมถึงห้องสมุดรัฐสภา จึงไม่ใช่บันทึกลับ...
ส่วนเรื่องบันทึกการสนทนา มีการคุยกันร่วม 30 คน ไม่ใช่สนทนาแค่ 2 คน การคุยกันเป็นการคุยทั้งคณะ การมาจับคำพูดแค่ 2 คน ไม่ถูกต้อง คิดว่ามีประเด็นบางประการซ่อนอยู่
นอกจากนี้ เอกสารเป็นการบันทึกการประชุม ไม่ใช่มติการประชุม ซึ่งบันทึกการประชุมมีความเห็นที่หลากหลาย หากดูตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 มีหลายวรรค หลายตอน เราจะไปเจาะเพียงท่อนใดท่อนหนึ่งไม่ได้ เพราะกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กับตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เหมือนกัน
รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดขั้นตอนให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 ชื่อ เมื่อประชาชนเลือกพรรคนั้นได้รับเลือกมาเป็นเสียงข้างมากในสภา ก็ให้เสนอชื่อนายกฯ เมื่อสภาเลือกนายกฯ แล้วให้ประธานสภาเสนอชื่อนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นขั้นตอนเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติด้วย
"ดังนั้น การที่จะบอกว่านับวาระนายกฯ ตอนไหน ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่า ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพราะรัฐสภาเลือกขึ้นมา และรัฐสภา คือผู้แทนปวงชนไทย ซึ่งความเห็นของผมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคหนึ่งพรรคใด เพราะตอนนั้นที่เราพูดคุยกัน ยังไม่รู้เลยว่า ใครจะเป็นนายกฯ เมื่อเป็นบุคคลท่านนี้ขึ้นมาปั๊บ ก็อาจจะคิดว่า ผมไปนิยมชมชื่นนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้าดูรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็เป็นไปตามขั้นตอนของมัน ถ้าตีความตามหลักนิติรัฐก็ชัดเจนเลย แม้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ต้องเอาหลักนิติศาสตร์เป็นหลัก" นายสุพจน์กล่าว
นายสุพจน์ กล่าวว่า ในความเห็นไว้คือ การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ให้นับวันที่โปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 แต่ทุกอย่างให้ไปตัดสินที่ศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนความเห็นในบันทึกการประชุมเมื่อปี 2561 เป็นแค่ความเห็นเริ่มแรกเพียงไม่กี่คน ไม่ใช่มติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นความเห็นทั่ว ๆ ไป”
คุณดนัยซักถามว่า ความเห็นส่วนตัว สามารถอ่านจากบันทึกการประชุมได้หรือไม่ นายสุพจน์กล่าวว่า เป็นความเห็นแรกเริ่มยังไม่ได้ฟังความเห็นของคนอื่นเลย และเรายังไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ยังมีรายละเอียดหลากหลายเยอะแยะไปหมด ในบันทึกการประชุม
"เราต้องยึดมติของ กรธ.เป็นหลัก เพราะจะไปยึดความเห็น 2 คน ที่พูดมาตอนแรก ๆ ฟังไม่ได้ศัพท์จับมากระเดียดหรอก แต่เขาจับมากระเดียดเสียนี่ จึงกลายเป็นประเด็น เพราะจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแท้ ๆ เริ่มตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งระบุชัดเจน แต่ขอให้ลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ" นายสุพจน์กล่าวในตอนท้าย
เอาละสิ เรื่องแทนที่จะจบในที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่หารือกันในที่ประชุม ดันไม่จบเอาเสียแล้ว ถ้าพิจารณาจากความเห็นของนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ในวันนี้ ที่แตกต่างจากวันนั้น
ความคิดเห็นที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่พลิกไปพลิกมาแบบนี้แหละที่ประเทศไทยมีปัญหาด้านการตีความตามกฎหมาย จนกลายเป็นความขัดแย้งและการคาใจในเรื่องของ “ตุลาการภิวัฒน์” และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อใคร เป้าหมายเพื่ออะไร
เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณาว่า เราควรยึดหลักการใด ยึดเจตนารมย์อย่างไร เราไปดูรายชื่อคณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญที่เข้าร่วมประชุม เพราะแต่ละคนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนั้น ไม่ใช่หัวหลักหัวตอแทบทั้งสิ้น แต่ละคนเป็นผู้มีความรู้ ชื่อเสียงเพียบ
1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 อดีตสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติคนเดียวที่เป็นพลเรือน ยุคคสช. อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2534 และรัฐธรรมนูญปี 2560 อดีตประธานรัฐสภา
2.นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการ คนที่ 1 จบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ, Universite des Sciences Sociales de Toulouse ประเทศฝรั่งเศส เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน อิหร่าน อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกร่าง พ.ศ. 2558) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ในการไต่สวนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 นายสุพจน์กล่าวตอนหนึ่งจนเป็นวาทะอันลื่อลั่นประเทศว่า "รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน
3.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานคณะกรรมการ คนที่ 2 เนติบัณฑิตไทย อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อดีตประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
4.นายนรชิต สิงหเสนี ปริญญาตรีนิติศาสตร์ (เกียรตินิยม) จุฬาฯ ปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก The Fletcher School of Law and Diplomacy สหรัฐอเมริกา อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศ และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อดีตเอกอัครราชทูตประจำนิวซีแลนด์ อดีตเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก
5.นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 6 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
6.นางกีระณา สุมาวงศ์ อดีตนายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ 2 สมัย อดีต สมาชิกวุฒิสภา (22 มีนาคม 2539-21 มีนาคม 2543)
7.นางจุรี วิจิตรวาทการ อดีต ส.ว.กรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกร่าง พ.ศ. 2558) กรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย อดีตอธิการบดีคนที่ 10 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
8.ศาสตราจารย์ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ประธานมูลนิธิทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือ กรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
9.นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย ปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท Master of Laws (LL.M.) จาก Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตกรรมการตรวจสอบ กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นกรรมการอิสระ กรรมการบริหารความเสี่ยงและกรรมการกำกับดูแลกิจการ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
10.นายเธียรชัย ณ นคร เนติบัณฑิต สํานักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาโททางกฎหมาย (LL.M.) University of Pennsylvania Law School กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์ประจําสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ประธานอนุกรรมการตอบข้อหารือตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
11.นายประพันธ์ นัยโกวิท เนติบัณพิต Master of Laws, Tulane University, ประเทศสหรัฐอเมริกาอดีตอัยการ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกร่าง พ.ศ. 2558) อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอัยการสูงสุด อดีตรองอัยการสูงสุด อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
12.นายภัทร คำพิทักษ์ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อดีตประธานอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อดีตคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหาร องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย
13.นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อดีตกรรมการข้อูลข่าวสารของทางราชการ
14.พลตรีวิระ โรจนวาศ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
15.ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตผู้อำนวยการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน อดีตผู้อำนวยการ SEAMEO-RIHED อดีตอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2553-พ.ศ.2557)ปัจจุบันเป็นคณบดี และ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
16.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ จบรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต การบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (อาชญาวิทยาและการบริหารกระบวนการยุติธรรม ) มหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต สหรัฐอเมริกา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตสมาชิก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
17.อัชพร จารุจินดา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
18 พล.อ.อัฎฐพร เจริญพาณิช กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ อดีตคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 ด้านกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่งและทางอาญา
19.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ กฟผ.เป็นกรรมการในธนาคาร ธกส.
นี่คือ 19 อรหันต์ของคณะกรรมการร่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่มีการประชุมกันครั้งที่ 500 ถึงการนับอายุของนายกรัฐมนตีว่า 8 ปี นั้นนับจากไหน และปัจจุบันยังไร้ข้อยุติ จนคนในสังคมสับสนอลหม่านไปหมด!