ฝ่ายค้านนัดถล่มปมนายกฯ 8 ปี ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี "ดอน" มัด

11 ส.ค. 2565 | 03:29 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2565 | 10:35 น.

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ ฝ่ายค้านนัดรุมถล่มปมคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2561 คดี "ดอน ปรมัตถ์วินัย" มัด ยอมรับการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของรองนายกฯดอน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ฝ่ายค้านจะถือโอกาสใช้เวลาในช่วงข้อหารือของสมาชิกสภาฯ ขอหารือและอภิปรายกรณีคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคท้าย 

 

ทั้งนี้ในช่วงของการหารือ ฝ่ายค้านจะระดมพลแกนนำชุดใหญ่กันเข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง พร้อมทั้งอภิปรายแบบกึ่งอภิปรายไม่ไว้วางใจขนาดย่อม ๆ ถึงกรณีดังกล่าว โดยหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเทียบเคียงกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ 

โดยยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2561 กรณีคู่สมรสของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังคงถือหุ้น หรือมีหุ้นในกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัท เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการยังคงถือหุ้นของคู่สมรสรัฐมนตรี ไม่เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

 

ทั้งนี้เพราะนายดอน ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ และมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลได้ยกเว้นคุณสมบัติบางประการของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สำหรับคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน และขณะที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ดังนั้นการได้ประโยชน์จากบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ที่ว่านี้ ก็เท่ากับศาลวินิจฉัยยอมรับการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องของนายดอน 

ทั้งนี้ตามคำวินัจฉัย ได้ระบุว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 เป็นบทเฉพาะกาลที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

 

เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคระรีฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามบทหลัก ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่บังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ

 

ขณะเดียวกันยังมีกรณีคล้ายกัน คือ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยภายใต้หลักการเดียวกันกับรัฐมนตรีอีก 4 คนในยุคนั้น ประกอบด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาอภิปราย คือ คำวินิจฉัยที่ 5/2561 เรื่องการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 

 

รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 7/2562 เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล / นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ / นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร / และ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่

 

ข้อมูลจาก : เนชั่นทีวี