"อาคม"แจงงบฯ 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ปรับลด 7.644 พันล้าน หนุนฟื้นเศรษฐกิจ

17 ส.ค. 2565 | 05:56 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 13:20 น.

สภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ66 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท วาระ2และวาระ 3 เป็นวันแรก "อาคม" แจงหั่นงบ 7,644ล้านบาท หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ-สังคมหลังวิกฤตโควิด-19 และแก้ยากจนแบบพุ่งเป้า

วันที่ 18 ส.ค.65  ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พิจารณาเสร็จแล้ว

 

โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเป็นการพิจารณาเรียงลำดับมาตรา

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กล่าวรายงานผลการพิจารณาของคณะกมธ.ว่า กมธ.ฯพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณรวม 734 หน่วย

 

และให้ความสำคัญผลสัมฤทธิ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและนโยบายแห่งชาติของรัฐบาล

 

ตลอดจนการจัดงบประมาณแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยรับงบประมาณสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สอดคล้องกับสภาพการเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ
 

ตลอดจนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีข้อสังเกตสำคัญให้รัฐบาลดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มรายได้และลดการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง ปรับปรุงกระบวนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

 

ควบรวมหน่วยงานที่มีพันธกิจซ้ำซ้อนกัน หรือบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ รวมถึงกระจายงบประมาณให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนบนพื้นฐานความโปร่งใสและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน

 

นายอาคม กล่าวต่อว่า มีการปรับลดงบ 7,644,243,800 ล้านบาท โดยได้พิจารณาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับเงินนอกประมาณหรือรายได้ที่จัดเก็บเองเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา อาทิ

 

1.รายการที่สามารถปรับลดเป้าหมายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้เกิดความประหยัด เช่น การฝึกอบรมสัมมนา การจ้างที่ปรึกษา การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น

 

2.รายการที่มีผลดำเนินการล่าช้ากว่าปกติและคาดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ทันหรือรายการผูกพันงบประมาณเดิมที่ผลการจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่าวงงบประมาณเสนอไว้ 3.รายการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือที่ดำเนินการไปแล้ว โดยใช้จ่ายจากการโอนเปลี่ยนแปลงหรือการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2565

 

และ 4.รายการที่ยกเลิกโครงการหรือสามารถจากแหล่งอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณ นอกจากนั้นยังพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณตามความเหมาะสมและจำเป็น 

 

“การพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลด การเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว กมธ.ฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความพร้อมและศักยภาพของหน่วยงาน ความซ้ำซ้อน เป้าหมายการดำเนินการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมภายหลังภาวะวิกฤตโควิดและประชาชนโดยตรงเป็นสำคัญ

 

รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต เข้มแข็ง รองรับการเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบวงเงินประมาณ จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท” นายอาคม กล่าว