“พาป๋า กลับบ้าน” นายกฯตู่เตรียมลงสงขลาเป็นประธานพิธีบรรจุอัฐิ 26 ส.ค.นี้

17 ส.ค. 2565 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2565 | 15:21 น.

“พล.อ.สุรยุทธ์”นำทีมทำพิธี“พาป๋า หลบบ้าน”อัญเชิญอัฐิ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลับสู่จังหวัดสงขลา 19 ส.ค. ในโอกาสครบวันเกิด 102 ปี ขณะที่“นายกฯตู่”เตรียมลงใต้เป็นประธานพิธีบรรจุอัฐิ 26 ส.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันศุกร์ที่ 26  สิงหาคม 2565 ในโอกาส ครบรอบวันเกิดของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่หากยังมีชีวิตอยู่ จะอายุครบ 102 ปี ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  จะเป็นประธานในพิธีบรรจุอัฐิ พลเอก เปรม ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา

 

โดยจะมีพิธี “พาป๋า หลบบ้าน” อัญเชิญอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กลับสู่จังหวัดสงขลา  โดยเครื่องบิน จากสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  

และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการรับและส่งมอบมอบอัฐิให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กลับสู่จังหวัดสงขลา และประกอบพิธีที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 56 โดยทหารกองเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ การแสดงมโนราห์ 99 คน 


จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนอัฐิจากท่าอากาศยานกองบิน 56 ไปยังอาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อประกอบพิธีสวดพระอภิธรรม ในวันที่ 20 สิงหาคม 2565 และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเคารพอัฐิ ตั้งแต่เวลา 08.30-20.00 น. 

สำหรับวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ในช่วงเช้าคณะผู้จัดงานจะทำการเคลื่อนย้ายอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยขบวนรถบุษบก พร้อมขบวนนักวิ่ง 99 คน ไปยัง สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นอกจากนี้ยังมีการวิ่งอีก 2 เส้นทาง คือ บ้านศรัทธา - สวนประวัติศาสตร์ และวัดแหลมพ้อ-สวนประวัติศาสตร์  

 

จากนั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จะส่งมอบอัฐิให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมในช่วงค่ำของทุกคืน ตั้งแต่วันที่ 21-25 สิงหาคม เวลา 17.00 - 20.00 น.

                              “พาป๋า กลับบ้าน” นายกฯตู่เตรียมลงสงขลาเป็นประธานพิธีบรรจุอัฐิ 26 ส.ค.นี้
ส่วนในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 มีกิจกรรมประกอบด้วยตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 99 รูป บริเวณลานอนุสาวรีย์ สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ สงขลา โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ฯ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส 


พิธีบรรจุอัฐิ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ 
เมื่อเสร็จพิธี นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อเป็นประธานในพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์ “อาคารเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” และพิธีเปิดศูนย์ผ่าตัดหัวใจ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นโครงการที่สืบเนื่องจากโครงการ “99 ปี ล้านความดี เพื่อรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” 


โดยกำหนดพื้นที่ก่อสร้างไว้บริเวณด้านหน้าอาคารศรีเวชวัฒน์ เพื่อใช้เป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รับแจ้งความจำนงในการบริจาคอวัยวะจากผู้มีจิตกุศล ตั้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นศูนย์กลางรับลงทะเบียนผู้ป่วยที่รอรับการบริจาคอวัยวะรวมถึงเป็นศูนย์ข้อมูลบริการข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะแก่แพทย์ และสาธารณชนโดยทั่วไป 


นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่เป็นหอเกียรติยศ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (Hall of Fame) ในการจารึกเกียรติประวัติ คุณงามความดี และการเสียสละเพื่อประเทศชาติของท่านไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป 

 

เปิดประวัติ  พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

 

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อ.เมือง  จ.สงขลา  เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)  เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน 


พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2469 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา หมายเลขประจำตัว 167  สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  เมื่อปี พ.ศ.2478 เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์  ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  หมายเลขประจำตัว 7587


พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เมื่อปี พ.ศ.2481 โดยเข้ารับการศึกษาเป็นรุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่น 55 นาย สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2484 ใช้เวลาเพียง 3 ปี ไม่ครบ 5 ปี ตามหลักสูตร  เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขึ้น จึงจำเป็นต้องให้นักเรียนนายร้อยออกรับราชการก่อนกำหนด


พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 ปฏิบัติหน้าที่ ณ สมรภูมิรบปอยเปต ประเทศเขมร ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นว่าที่ร้อยตรี (รับกระบี่ในสนามรบ) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484


พ.ศ. 2485-2488  เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับคำสั่งให้ไปประจำการเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จังหวัดลำปาง ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล.3  ที่เชียงตุง  จนได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี 


พ.ศ. 2489-2492 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ ได้เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนนายทหารม้า เมื่อจบการศึกษาได้กลับมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยเดิม และรักษาราชการผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมรถรบ
1 กรกฎาคม 2492  ได้รับพระราชทานยศ "พันตรี" 


พ.ศ. 2493 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์  รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 และรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์อีกตำแหน่งหนึ่ง


พ.ศ. 2495 ได้รับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School รัฐเคนตักกี้  ประเทศสหรัฐอเมริกา  สำเร็จการศึกษาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2497  กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี  กองการศึกษา  โรงเรียนยานเกราะ  กองพลน้อยทหารม้า (กรุงเทพฯ) 
30 มกราคม 2497  ได้รับพระราชทานยศ "พันโท" 


พ.ศ. 2497-2498  เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 5  กรมทหารม้าที่ 2  และเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร  กองการศึกษา  โรงเรียนยานเกราะ

 

1 มกราคม 2499  ได้รับพระราชทานยศ "พันเอก" 


พ.ศ. 2501  เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี  เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ  ศูนย์การทหารม้า


พ.ศ. 2506  เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้า  ศูนย์การทหารม้า  และเป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบก  สระบุรี


พ.ศ. 2509-2510  เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9 (ยศพันเอก)  เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี


1 ตุลาคม 2511 ได้รับพระราชทานยศ "พลตรี" และให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี 


พ.ศ. 2512 เป็นองครักษ์เวร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์


1 ตุลาคม 2516  เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 จังหวัดสกลนคร


1 ตุลาคม 2517  ได้รับพระราชทานยศ "พลโท" และดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 


พ.ศ. 2518  เป็นราชองครักษ์พิเศษ


1 ตุลาคม 2520 ได้รับพระราชทานยศ "พลเอก" และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร

 

พ.ศ. 2521 เป็นผู้บัญชาการทหารบก จนเกษียณอายุราชการ  เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2523  และคณะรัฐมนตรีได้มีมติต่ออายุราชการอีก 1 ปี 

                                  “พาป๋า กลับบ้าน” นายกฯตู่เตรียมลงสงขลาเป็นประธานพิธีบรรจุอัฐิ 26 ส.ค.นี้
26 สิงหาคม 2524 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้อำลาการรับราชการทหาร
วันที่ 3 มีนาคม 2523  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย  


แต่ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรับราชการทางการเมืองโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2511  


เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2515 


เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน2520 


และ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 22พฤษภาคม 2522  


พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2523 จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 5 ชุด รวมเวลาทั้งสิ้น 8 ปี 5 เดือน 


หลังจากการปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 


ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9 จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559  


จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 1 ธันวาคม 2559  และดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559  


พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา 9 นาที  สิริอายุ  99 ปี 

 

**ขอบคุณภาพประกอบจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา