วันนี้ ( 23 ส.ค.65) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง ตามมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ถอดถอน ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลเห็นว่า มติกรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีนั้น มีกรรมการงดออกเสียง 5 คน จึงไม่ใช่มติโดยเอกฉันท์ อีกทั้งพฤติการณ์สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงรีบเร่งในการพิจารณาและลงมติที่พิพาท
รวมทั้งออกคำสั่งตามมติดังกล่าวถอดถอน นายสืบพงษ์ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการสรรหาเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาโดยชอบ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน
เบื้องต้นจึงเห็นว่า มติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 ที่ให้ถอดถอน นายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี และคำสั่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
แม้จะอ้างว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีอำนาจและหน้าที่โดยตรง ในการควบคุมดูแลการบริหารงานของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งกรณีอ้างว่านายสืบพงษ์ ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและฝ่าฝืนข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการขัดขวาง พยายามครอบงำและควบคุมกระบวนการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยคนใหม่
รวมทั้งการที่การอ้างว่า คำฟ้องไม่มีมูลให้รับฟังได้ และการออกคำสั่งทางปกครองเป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดแล้วนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักหักล้างคำวินิจฉัยของสาลปกครองชั้นต้น ที่รับฟังว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้เปิดโอกาสให้ นายสืบพงษ์ ได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้ง และแสดงพยานหลักฐานของตน เพื่อหักล้างข้อกล่าวหา
ทั้งยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่า การกระทำของ นายสืบพงษ์ เป็นการกระทำความผิดอันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งอาจจะเป็นการไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มติและคำสั่งดังกล่าว น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งเห็นว่า การให้มติและคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อไป เป็นผลโดยตรงที่ทำให้นายสืบพงษ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีได้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ย่อมเป็นการยากที่จะเยียวยาแก้ไขกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้
ส่วนการอ้างว่า ผลคำสั่งทุเลาของศาลปกครองชั้นต้น จะทำให้เกิดอุปสรรค ความยากลำบาก และส่งผลกระทบต่อการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ไม่อาจรับฟังได้ ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย