วันที่ 29 ส.ค. 2565นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องของการยุบสภาระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ยังไม่มีผลบังคับใช้ จะส่งผลอย่างไรต่อการเลือกตั้งว่า มี 2 วิธี คือ
1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ออกระเบียบ 2.ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งการออกเป็น พ.ร.ก.อาจไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสามารถนำร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบไปแล้ว มาจัดทำเป็นพ.ร.ก.ได้
แต่วิธีนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการไปปรับแก้อะไรอีก โดยพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ทางกกต.ได้ให้ความเห็นชอบและนำเข้าที่ประชุมสภาไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีข้อครหาอะไรแม้จะไม่ถูกใจบางคน เช่น เรื่องสูตรคำนวณส.ส. หาร 100 หรือ 500 แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีออกระเบียบ หรือออกพ.ร.ก.อาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ส่งมาถึงรัฐบาลหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ทางสภายังไม่ได้ส่งมาที่รัฐบาล เพราะรัฐสภาจะเก็บไว้พิจารณา 3 วัน และน่าจะครบกำหนดแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมาที่รัฐบาล ถ้าส่งมาเมื่อไหร่ รัฐบาลจะเก็บไว้อย่างน้อย 5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
แต่ได้ยินว่าจะมีคนไปยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้ามีคนไปยื่นก็จะส่งผลให้กระบวนการล่าช้าออกไป ขณะที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
“ขณะนี้ยังไม่มีการยุบสภา จะไปวิตกอะไร สื่อถามอย่างกับรู้วงในว่าจะมีการยุบสภา” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่ายังไม่มีเหตุอันสมควรยุบสภาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ ยังนึกไม่ออกว่ามีเหตุอะไรที่จะยุบ โดยปกติเหตุผลที่จะยุบสภาคือ รัฐบาลกับฝ่ายสภา มีความขัดแย้งกันหรือรัฐบาลแพ้การลงมติในสภา แบบนี้ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็น และอย่าไปเชื่อข่าวลือ
เมื่อถามว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จะมีทางออกสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งใช่หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ารักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีอำนาจยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า ตามทฤษฎีมีอำนาจเต็มทุกอย่าง แต่ในทางปฎิบัติ ต้องคิดหลายอย่างให้รอบคอบ เพราะการยุบสภาไม่ใช่เอากระดาษมาเขียนแล้วยุบก็เสร็จ ต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯและต้องมีคำอธิบายเหตุผลของการปรับ