สภาฯถกแก้ รธน.4 ฉบับ นายกฯต้องเป็นส.ส ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ

06 ก.ย. 2565 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2565 | 15:33 น.

รัฐสภา ประชุม"แก้รธน. "4 ฉบับ เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม- ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ แก้คุณสมบัติและที่มานายกฯ

วันที่ 6 ก.ย.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 4 ฉบับในคราวเดียวกัน โดย 3 ร่างแรกที่เสนอแก้ไข มีนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเป็นผู้เสนอ ประกอบด้วย

 

1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิเสรีภาพปวงชนชาวไทย กรณีคุ้มครองสิทธิประกันตัวคดีอาญา (เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 )

 

และ3.ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. และความเป็นนายกฯสิ้นสุดเมื่อสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง
 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 เป็นร่างกฎหมายของภาคประชาชนเข้าชื่อกัน โดยมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ ขอแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ให้ความเห็นชอบบุคคลในการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็น ส.ส. ถือว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมาที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.

 

จึงจำเป็นต้องเพิ่มรายละเอียดดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งการแก้ไขนี้ยังคงสาระเดิม คือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อและต้องได้รับความยินยอมจากคนที่ถูกเสนอชื่อ แต่คนที่ได้รับการเสนอชื่อนี้ต้องได้รับความมั่นใจว่าจะเป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็น ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อ ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่จะต้องมาจากลำดับที่ 1 ของบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง
 

ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนที่เสนอแก้ไขเนื้อหาว่าด้วย การเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ ส.ว.เลือก นายกรัฐมนตรี โดยเปลี่ยนแปลงบางข้อความ เพื่อยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการร่วมลงมติเรื่องนายกรัฐมนตรีในบทเฉพาะการ และคงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกเหมือนเดิม แต่ขั้นสุดท้ายให้มาเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

         
  เพราะเมื่อใดก็ตาม หาก ส.ว. สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าหากนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคการเมืองก็ถือได้ว่า ส.ว.ไม่มีความเป็นกลาง และอาจเกิดข้อครหาต่อประชาชนได้ ส่วนประเด็นที่ว่าหากจะแก้ตรงนี้ต้องกลับไปทำประชามติอีกหรือไม่นั้น เห็นว่า การทำประชามติมีประเด็นเพียงแค่ หมวดที่ 1 และ 2 เท่านั้น หรือต้องทำในเรื่องที่เกี่ยวกับ อำนาจหน้าที่ของ ศาล หรือ องค์กรอิสระ

 

และยังเห็นว่าการแก้ไขบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องแก้ไขหลังครบรายละเอียดบทเฉพาะการในการเลือกนายกรัฐมนตรีเพราะทุกปีมีความหมาย